ทิสโก้ คาดโอนธุรกิจบัตรเครดิตให้ซิตี้แบงก์เสร็จภายในไตรมาส 3 พร้อมจัดโปรฯ ต้อนรับ ส่วนยอดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ไม่น่าห่วง กรณีที่ลูกค้าธุรกิจรายหนึ่งเกิดปัญหามั่นใจบริหารจัดการได้
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการจัดการใหญ่ กลุ่มทิสโก้ (TISCO)เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการโอนธุรกิจบัตรเครดิตให้กับ ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพมหานครว่า คาดว่าขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 นี้ เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเสร็จสิ้นประมาณปลายปีนี้ หลังจากที่การโอนสินเชื่อบุคคลได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมูลค่ารวมทั้ง 2 ส่วนนี้กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารได้ทำความเข้าใจกับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง และทางผู้รับโอนเองก็พร้อมที่จะมีโปรโมชันต่างๆให้กับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ด้วย
ส่วนกรณีที่ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 2 มีจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น 752.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 โดยปัจจัยหลักมาจากลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจรายกลางรายหนึ่งประสบปัญหาการชำระหนี้นั้น นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่า ลูกค้ารายดังกล่าวจะสามารถบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ภายในครึ่งปีหลังนี้ และหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เป็นที่ดินที่เจ้าธุรกิจให้ความสำคัญมากจึงไม่น่าจะปล่อยให้เสียหลักประกันไป ทั้งนี้ ณ สิ้นสุดไตรมาส 2 ธนาคารมีเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 2.69% เพิ่มขึ้นจาก 2.34% ในไตรมาสก่อนหน้า
“เกี่ยวกับลูกหนี้รายนี้ เราไม่ได้เป็นห่วงมากนัก เพราะหลักประกันมีมูลค่าสูงกว่ามูลหนี้ และลูกหนี้เองก็ให้ความสำคัญกับที่แปลงนี้มาก จึงเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถบริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้ จนกลับมาคืนสู่ภาวะปกติ”
สำหรับสินเชื่อของธนาคารในปีนี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 0% หรือทรงตัวจากปีก่อน แม้สินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีสัดส่วนสูงในพอร์ตรวมจะเติบโตได้ดี แต่สินเชื่อส่วนอื่นๆยังคงลดลง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 มีเงินให้สินเชื่อรวม 237,367 ล้านบาท ลดลง 3,397.03 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดนสาเหตุหลักมาจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าบรรษัท และลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม 5% และสินเชื่ออื่นๆ 1.2% รวมถึงการขายพอร์ตสินเชื่อบุคคลออกไปด้วย
นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ธนาคารไม่กังวลเรื่องตัวเลขสินเชื่อเติบโต แต่เราจะดูที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่จะเป็นส่วนที่ทำให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ รวมถึงการดูแลเรื่องคุณภาพของหนี้ และความเสี่ยงต่างๆ ด้วย