xs
xsm
sm
md
lg

ออมสิน แจงช่วยเหลือหนี้ครู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารออมสิน แจงปัญหาหนี้สินครู ยืนยันคิดดอกเบี้ยต่ำสุด ทั้งยังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืดหยุ่น ช่วยเหลือแก้ไขหนี้ตลอดกว่า 12 ปี และยินดีช่วยแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงกรณีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูรวมตัวประมาณ 100 คน เรียกร้องให้รัฐบาล และธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป พร้อมชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ว่า ปัจจุบัน ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ค. ต่ำมากเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี (ตามข้อตกลงใหม่) ขณะที่สินเชื่อบุคคลทั่วไปในระบบสถาบันการเงินที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15-28 ต่อปี อีกทั้งระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 30 ปี ซึ่งคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะ ที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู แต่ถ้าสามารถผ่อนชำระเงินกู้มากกว่าเงินงวดตามเงื่อนไข หรือนำเงินมาสมทบชำระหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้หมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการธนาคารออมสินมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ หรือชำระไม่ไหวด้วยการส่งหนังสือเชิญชวนให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ 1. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ ร้อยละ 100 2. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ร้อยละ 15-30 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 3. กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เพื่อให้ผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิมกลับมาเป็นหนี้ปกติที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำตามเดิมได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นอย่างมาก เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ปกติผ่อนชำระ 6,200 บาทต่อเดือน (เงินต้น+ดอกเบี้ย) หากผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 25-100 เงินชำระต่อเดือนลดลง (ปัจจุบันมีผู้กู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กว่า 40,000 ราย)

ส่วนกรณีการทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อนั้น ไม่ได้บังคับ และปรากฏว่ามีครูผู้กู้เลือกทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีครูเสียชีวิตประมาณ 15,900 คน ครูที่ทำประกันประมาณ 10,800 คน รวมทุนประกันประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งครูจะมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย เมื่อเสียชีวิตจะนำเงิน ช.พ.ค. 700,000 บาทต่อราย มาชำระหนี้ปิดบัญชี และจะมีเงินเหลือคืนทายาทรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของการทำประกันอย่างแท้จริง ทำให้ทายาทและผู้ค้ำประกันไม่เดือดร้อน

“ยอดสินเชื่อโครงการ ช.พ.ค. ล่าสุดมีผู้กู้รวมประมาณ 433,000 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 406,000 ล้านบาท โดยมี NPLs ประมาณ 4,079 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.94 ของลูกหนี้ทั้งหมดเท่านั้น ธนาคารอยากให้ครูที่มีปัญหาการผ่อนชำระ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด ขอให้เข้ามาแจ้งความประสงค์ เพราะธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือครูที่ยืดหยุ่นผ่อนคลาย อยากให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีวินัยทางการเงิน เพราะครูต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างคนให้เป็นคนดีมีความรู้มีวินัยให้แก่ประเทศชาติต่อไป” นายชาติชาย กล่าว

สำหรับโครงการ ช.พ.ค. เกิดจากกระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารออมสิน ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการรวมหนี้สินของครูจากหลายแหล่งทั้งในระบบ และนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากู้ที่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว โดยปี 2548 มีการจัดหาสวัสดิการด้านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. รวม 7 โครงการ ด้วยการนำเงิน ช.พ.ค. และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณี คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกัน และ/หรือบุคคลค้ำประกัน หรือทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น