เผยปม “ปฏิญญามหาสารคาม” ครูรวมตัวเรียกร้องรัฐบาล-ออมสินพักหนี้โครงการ ช.พ.ค. เอาเงินบำเหน็จตกทอดค้ำประกันเงินกู้ พร้อมยุติชำระหนี้กับออมสิน 1 ส.ค. นี้ โลกโซเชียลฯ ไม่พอใจ ชี้ควรเป็นแบบอย่างเยาวชน มีหนี้ต้องใช้หนี้
วันนี้ (16 ก.ค.) ในสื่อโซเชียลมีเดียได้แชร์วิดีโอคลิปกลุ่มข้าราชการครูจำนวนมากยืนอยู่หน้าเวที แล้วมีผู้พูดประกาศว่า “ปฏิญญามหาสารคาม วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้อ 1. ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการ ช.พ.ค. ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ข้อ 2 ลูกหนี้ ช.พ.ค.จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป” คลิปนี้มีผู้ชมกว่า 2 แสนครั้ง ต่างวิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่าข้าราชการครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน และเห็นว่ามีหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้ อย่างไรก็ตาม คลิปต้นทางได้ถูกลบไปแล้ว (ชมคลิป คลิกที่นี่)
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในปี 2542 ธนาคารออมสินและกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการรวมหนี้สินจากหลายแหล่งมาไว้ที่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว โดยการกู้เงินจากโครงการนี้ไปปิด และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ต่อมาในปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับธนาคารออมสิน จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ไม่น้อยกว่า 7 โครงการ ซึ่งใช้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกัน และธนาคารออมสินจะจัดสรรเงินสนับสนุนให้ สกสค.ในอัตรา 0.5-1% แยกตามแต่ละโครงการ
สำหรับหนี้โครงการ ช.พ.ค. ที่ในคลิปกล่าวถึง เป็นโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน เปิดโอกาสให้ข้าราชการครูกู้เงินโดยมีบุคคลค้ำประกัน และเงินฌาปณกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค.ซึ่งเป็นเงินบำเหน็จตกทอด ที่ทายาทจะได้รับเมื่อบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต เป็นหลักประกัน คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อสวัสดิการอื่นๆ กำหนดระยะเวลากู้เงินได้สูงสุด 30 ปี รวมทั้งยังมีสำนักงาน สกสค.ดูแลชำระหนี้แทนกรณีผู้กู้ไม่ชำระหนี้ โดยมีลูกหนี้เป็นข้าราชการครูกว่า 4 แสนราย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ลูกหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนหนึ่ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปล่อยสินเชื่อเพื่อนำมาใช้หนี้เก่า เอารายได้อนาคตมาใช้หนี้ตัวเอง โดยยอมให้หักเงิน ช.พ.ค. ที่จะได้ตอนเสียชีวิต อัตราดอกเบี้ย 4% จากดอกเบี้ยปกติ 6.0-6.5% ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี สมัครได้เฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3 แสนราย
แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีข้าราชการครูเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 1% เพราะเห็นว่าการให้ธนาคารออมสินเป็นเจ้าภาพปล่อยสินเชื่อเพื่อใช้หนี้เก่า เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด มีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรง นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังเคยหักเงินจากกองทุน ช.พ.ค. กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระแทนลูกหนี้ที่ค้างชำระติดต่อกันเกิน 3 งวดไปแล้ว ทั้งที่การดำเนินงานติดตามทวงเงินกรณีการผิดนัดชำระค่างวด ระหว่างธนาคารออมสินและ สกสค.ไม่ชัดเจน เห็นว่าเป็นสัญญาฝ่ายเดียว
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การปรับปรุงแนวทางสินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเมื่อปลายปี 2560 ธนาคารออมสินยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน ที่เคยให้ สกสค.ในอัตรา 0.5-1% เปลี่ยนมาจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (Cash Back) เข้าบัญชีครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีวินัยทางการเงิน ชำระหนี้ดี 12 งวดติดต่อกัน รวมทั้งเชิญชวนให้ครูที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร โดยคิดจากรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ยังได้ยกเลิกข้อตกลงในการหักเงินจากกองทุน ช.พ.ค. โดยให้ สกสค.บริหารหนี้ครูแทน