xs
xsm
sm
md
lg

“เคทีซี” เผยความเสี่ยงยุคดิจิทัล-แนะผู้ถือบัตรป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เคทีซี เผยยอดทุจริตจากธุรกรรมการเงินทางดิจิทัลสูงขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แนะลูกค้าดูแลข้อมูลส่วนตัว-ใส่ใจการติดต่อจากผู้ออกบัตร พร้อมนำระบบ CDD มาใช้ช่วยพิสูจน์ตัวตน

นายวิรัช ไพสิฐเศวต รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ปฏิบัติการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) กล่าวในงานเสวนา KTC FIT Talk#3 ตอน “รู้เท่าทันความเสี่ยงในการชำระทางอิเล็กทรอนิกส์และออนไลน์” ว่า ความเสี่ยงของธุรกิจบัตรเครดิตในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้ใช้โดยจากรายการธุรกรรมดิจิทัลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้รายการธุรกรรมที่ไม่ใช่บัตร และการทุจริตจากรายการที่ไม่ใช่บัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการทุจริตโดยใช้เลขที่บัญชีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเองก็พยายามที่จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้รัดกุมขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ถือบัตร และร้านค้า ก็จะต้องมีความระมัดระวังด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน เคทีซี เกิดความเสียหายเพียง 50% ของตลาด

นายสมชัย เบญจมโภไคย ผู้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อนุมัติสินเชื่อ KTC กล่าวว่า จากปัจจุบัน ที่มีการใช้บัตรเครดิตที่ติดชิปการ์ด การใช้แถบแม่เหล็ก รวมถึงระบบ OTP มาช่วยในการยืนยันตัวตนเจ้าของข้อมูล และระบบ KYC มาช่วยพิสูจน์ตัวตนเจ้าของข้อมูลแล้ว ทำให้การทุจริตบัตรโดยส่วนใหญ่กลับมาเป็น 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การที่ตัวลูกค้าเองปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้สามารถเข้าเกณฑ์การถือบัตร และการปลอมแปลงเอกสารของผู้อื่นมาสวมแทน ซึ่งหากระบบตรวจสอบไม่ดี ก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับทุกๆ ฝ่าย

ส่วนทางด้านการชำระเงินผ่าน QRcode ก็จะพบการทุจริตจากการนำ QR code ปลอมมาแปะแทน QR code จริงก็ทำให้เกิดความเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม จากการรับสมัครบัตรเครดิตที่มาจากหลายช่องทางการสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเจ้าหน้าที่รับสมัครบัตรฯ จะไม่มีทางรู้จัก หรือไม่เคยพูดคุยกับผู้สมัครบัตรฯ แม้ว่าจะมีระบบ KYC มาช่วยสูจน์ตัวตนเจ้าของข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังเป็นจุดที่ยังมีช่องว่างในการตรวจสอบความเสี่ยงที่แตกต่างจากสถาบันการเงิน ดังนั้น ล่าสุด บริษัทจึงได้พัฒนาระบบ Cstomers Due Diligence หรือ CDD ที่เป็นการพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้สมัครบัตรฯ หลังจากทำ KYC แล้ว โดยใช้ข้อมูลทางการเงินของลูกค้าเข้ามาช่วยพิสูจน์ตัวตนเพิ่มขึ้น โดยการใช้ข้อมูลดังกล่าวได้รับความยินยอมจากลูกค้าในการใช้ข้อมูลเครดิตของลูกค้ามาตรวจสอบ และยังรับการอนุมัติจากคณะกรรมการคุ้มครองเครดิตและเครดิตบูโร (NCB) ให้สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ด้วย

บริษัทเริ่มใช้ระบบ CDD ดังกล่าวตรวจสอบตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามียอดปฏิเสธบัตรฯ ไม่ต่ำกว่า 300 ราย จากยอดการสมัครที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 1,000 ใบต่อวัน แต่ทั้งนี้ ยอดปฏิเสธที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริตทั้งหมด บางส่วนอาจจะมาจากการกรอกข้อมูลผิด เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่างๅ แนะนำให้ผู้ถือบัตรควรแจ้งอัพเดทข้อมูล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ ที่ใช้ในการติดต่อหรือลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงินเสมอ เพื่อให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนจากผู้ออกบัตร และมีเปิดช่องทางให้สถาบันการเงินสามารถแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบัญชีได้ในกรณีที่เกิดรายการที่ผิดปกติ รวมถึงควรตั้งค่าความปลอดภัยของเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ให้แข็งแรง เพื่อให้ยากต่อการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลอื่น อีกทั้งระวังการเปิดข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลสำคัญส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน หมายเลขบัตรเครดิต ใน social และให้ความสนใจแก่การแจ้งเตือนเหตุต่างๆ หรือการให้ข้อมูลต่างๆ ของผู้ออกบัตรเพื่อป้องกัน หรือลดความเสียหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น