... รายงาน
ก.ย. 2561 สัญญาโครงการ “บัตรสินเชื่อเกษตรกร” จะสิ้นสุดลง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมผลักดัน “บัตรเกษตรสุขใจ” มาใช้แทน โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินงาน
ย้อนกลับไปในปี 2554 บัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว
โดยมอบบัตรพร้อมวงเงินสินเชื่อเพื่อรูดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 1 หมื่นแห่ง อาทิ สหกรณ์การเกษตร ปั้มน้ำมัน และร้านค้าเอกชนในท้องถิ่น
บัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นวงเงินสินเชื่อเดิมที่ ธ.ก.ส. ให้ลูกค้าอยู่แล้ว เพียงแต่แบ่งวงเงินส่วนหนึ่งมาเปิดเป็นวงเงินบัตรเครดิต หรือเปลี่ยนวิธีใช้จากเงินสดมาเป็นบัตรเครดิต โดยให้วงเงินสูงสุด 50,000 บาท
หากรูดบัตร 30 วันแรกไม่เสียดอกเบี้ย หลังจากนั้น จะเสียดอกเบี้ยเพียง 7% ต่อปี
ธ.ก.ส. ว่าจ้าง บริษัท วี สมาร์ท จำกัด ซึ่งเคยผลิตบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด เป็นผู้ติดตั้งระบบและจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการใช้จ่ายผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร โดยต้นทุนในการผลิตบัตร 32 บาทต่อใบ
ปัจจุบัน มีผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรแล้ว 4 ล้านราย มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 1 หมื่นแห่ง ประกอบด้วย ร้านค้าของสหกรณ์การเกษตร 3,500 แห่ง ปั๊มน้ำมัน 1,800 แห่ง และร้านค้าเอกชนในท้องถิ่น 4,700 แห่ง
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เคยถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเมื่อปี 2559 ว่า การดำเนินโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ในช่วงปีบัญชี 2555 - 2557 พบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ทั้งการส่งมอบบัตร การใช้จ่ายผ่านบัตร และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมทั้งร้านค้ายอดจำหน่ายผ่านบัตรรวมกันไม่ถึง 1.2 ล้านบาทต่อปีบัญชี แต่ไม่ถูกเรียกคืนเครื่อง EDC
มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มติ ครม. เมื่อ 24 เม.ย. 2561 เห็นชอบมาตรการ “เกษตรประชารัฐ” เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โดยให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร มีระยะเวลาการให้สินเชื่อ 1 ปี ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2561 ถึง 30 เม.ย. 2562 และกำหนดชำระหนี้คืนไม่เกิน 30 เม.ย. 2563
กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 3 ล้านราย วงเงินในการซื้อปัจจัยการผลิตรายละไม่เกิน 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเหลือ 4% ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท และข้าวสาร
แต่จะเปลี่ยนจาก “บัตรสินเชื่อเกษตรกร” ในรูปแบบชิปการ์ด เป็น “บัตรเกษตรสุขใจ” ที่มีคิวอาร์โค้ดแทน
โดยร้านค้าต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ธ.ก.ส. A-Shop” มาใช้ทดแทนอุปกรณ์ EDC เพื่อรับชำระค่าปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจ สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ
แม้โครงการจะเริ่มคิกออฟไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 1.7 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ แต่ก็พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากยังไม่ทราบโครงการนี้ เนื่องจากอ่อนประชาสัมพันธ์
บางรายถูกเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. นำวงเงินใหม่มาหักหนี้เก่าอีก แม้ทาง ธ.ก.ส. จะยืนยันว่าจะไม่มีการหักหนี้เก่าก็ตาม ปัจจุบันออกบัตรไปแล้วกว่า 9 แสนราย วงเงิน 11,700 ล้านบาท จากเป้าหมาย 3 ล้านราย
งานนี้ รัฐบาลจะสลัดคราบความเป็น “บัตรเครดิตชาวนา” นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอดีตได้จริงหรือ?