xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์จูน พาร์ทฯ เผยครึ่งปีหลังโตแรง-บาทอ่อนค่ายรถเปิดตัวรุ่นใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ ส่งซิกครึ่งปีหลังรายดีเกินคาด ผู้บริหารมั่นใจผลงานครึ่งปีหลังโตแรง อานิสงส์บาทอ่อน ค่ายรถยนต์เปิดตัวรุ่นใหม่ ดัน Backlog หนากว่า 800 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้กว่า 50% แย้มไตรมาส 3 เริ่มเปิดฉากบุ๊คกำไรโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.แพร่ กำลังการผลิต 1 MW หนุนรายได้ และกำไร ทำสถิติสูงสุดใหม่

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าส่งมอบงานผลิตสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับลูกค้าตามออเดอร์ที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ประกอบการหลายค่ายได้มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2561 อีกทั้งบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากค่ายรถยนต์ MAZDA หลังจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศออสเตรเลียปิดตัวลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ารอส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 700-800 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 50% ในส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้เข้ามาในปี 2562

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศอินเดีย ของ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 45%

ขณะเดียวกัน ในปีนี้ บริษัทฯ จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการเข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนราธิวาส เข้ามาเติมปี ประมาณ 100-120 ล้านบาท และในไตรมาส 3/61 เริ่มเปิดฉากรับรู้กำไรโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.แพร่ ขนาด 1 เมกะวัตต์

“แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากออเดอร์ใหม่ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และได้รับปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งล่าสุดค่าเงินบาททะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน ผนวกกับมีการรับรู้กำไรจากการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล มีกำลังการผลิตรวมกว่า 8.5 เมกะวัตต์ ทำให้รายได้ และกำไรในปีนี้ มีโอกาสทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรของ FPI ในปีนี้เติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการส่งออกสูงถึง 86% ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 200-300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อเครื่องจักร และแม่พิมพ์ รวมถึงพัฒนาโรงงานให้เป็นระบบออโตเมชันมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น