ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ รุกธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าที่มีศักยภาพผลิตไฟได้ 200 เมกะวัตต์ แต่เบื้องต้นจะทำราว 100 เมกะวัตต์ เมินเสนอขายไฟ SPP Hybrid Frim
นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจให้บริการสาธารณูปแบบครบวงจรแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทจะเน้นการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าของ WHA ในนิคมฯ ทั้ง 9 แห่งซึ่งมีพื้นที่บนหลังคาอยู่ราว 2 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) มีศักยภาพผลิตไฟได้ 200 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นบริษัทจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปราว 100 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องรอนโยบายภาครัฐในการเปิดรับซื้อไฟจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการขยายติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเติมไปยังโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้ซื้อที่ดินในนิคมฯ ของกลุ่ม WHA และก่อสร้างโรงงานเอง โดย 9 นิคมของกลุ่ม WHA มีการขายที่ดินไปแล้ว 3 หมื่นไร่ คิดเป็นพื้นที่บนหลังคาโรงงานรวม 3 ล้าน ตร.ม. โดยบริษัทจะเจรจากับเจ้าของโรงงานฯ เพื่อขอใช้พื้นที่บนหลังคาโรงงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้วเสนอขายไฟให้โรงงานในราคาที่ต่ำกว่าการซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโซลาร์รูฟท็อปนำร่องแล้ว 1 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิต 0.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากล่าช้ามาเกือบ 1 ปี
ส่วนโครงการรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP ในรูปแบบ Semi Firm นั้น บริษัทฯไม่สนใจที่จะเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว แต่บริษัทสนใจลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในพื้นที่ภาคเอกชนโดยไม่ต้องรอนโยบายรับซื้อภาครัฐ โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีขนาดเล็ก 1-2 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร
สำหรับโครงการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชมขนาด 2.5-5 พันลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวันในประเทศพม่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ หากการตัดสินใจยังล่าช้าออกไปก็อาจจะยุติโครงการดังกล่าว ส่วนโครงการลงทุนธุรกิจประปาในนิคมฯ ที่เวียดนามนั้น จะลงทุนไปพร้อมกับบริษัท WHA ที่จะเข้าไปทำนิคมฯ ที่เวียดนาม
นายวิเศษกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำงบการลงทุนปี 2561 และงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า เบื้องต้นคาดว่างบลงทุนปีหน้าอยู่ที่ 2-2.5 พันล้านบาท ใกล้เคียงปีนี้ที่วางงบลงทุนไว้ 2 พันล้านบาท ใช้ลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป และงบลงทุนผูกพันโรงไฟฟ้าเอสพีพี 400 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 447.1 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 94.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2560-2562