xs
xsm
sm
md
lg

THBA ผนึกภาครัฐยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน คาด 5 ปัจจัยหนุนตลาดครึ่งปีหลังฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสิทธิพร สุวรรณสุต
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภค และประชาชนทั่วประเทศ ประเภท “บ้านเดี่ยวสร้างเอง” ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย.) ชะลอตัวลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเองในครึ่งแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2561) ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ยังคงคาดการณ์มูลค่าตลาดรวม “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท โดยประเมินจากแนวโน้มเศรษฐกิจ และกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางขึ้นไป ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับ “ธุรกิจรับสร้างบ้าน” หรือกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน (ไม่ใช่ผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป) ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ประมาณเกือบ 200 ราย แข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้ทั่วประเทศ โดยตลอดช่วงระยะ 6 เดือนแรก ปี 2561 คาดว่าสามารถแชร์ส่วนแบ่งจากตลาดบ้านสร้างเองอยู่ที่ประมาณ 6.8-7 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเกิดจากมูลค่าบ้านต่อหน่วยที่ลดลง ด้วยเหตุเพราะมีการแข่งขันตัดราคากันดุเดือด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ที่เน้นจับตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีจำนวนผู้ประกอบการแข่งกันอยู่มากที่สุด

ตลอดระยะเวลาครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานขาดแคลนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในส่วนของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงท้ายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จำนวนแรงงานต่างด้าวตามไซต์งานลดน้อยลง เพราะส่วนหนึ่งต้องหมดเวลาไปกับการติดต่อขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทำงานให้เรียบร้อย เนื่องจากหลังวันที่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง จะถูกลงโทษสถานหนักตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็มีขั้นตอน และใช้ระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาพอสมควร

ทิศทางและโอกาสรับสร้างบ้านครึ่งปีหลัง

แม้สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านและภาพรวมการแข่งขันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ความต้องการสร้างบ้าน และกำลังซื้อผู้บริโภคจะเติบโตได้ในครึ่งปีหลัง โดยประเมินสถานการณ์จาก 1. แนวโน้มการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ 2. มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล 3. การสนับสนุนสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารของรัฐ 4. ประชาชนนำที่ดินรกร้างว่างเปล่าออกมาใช้ประโยชน์มากขึ้น และ 5. ความพยายามกระตุ้นตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ทั้งนี้ จากการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศในปี 2561 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และอีกหลายๆ หน่วยงานคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจประเทศน่าจะขยายตัวได้สูงถึง 4.8% โดยการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 อันเป็นผลมาจากการยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงผลจากมาตรการอัดฉีดงบประมาณ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนธนาคารของรัฐที่จัดสรรวงเงินปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประชาชนที่มีความต้องการซื้อและสร้างบ้านหลังใหม่ อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ฯลฯ โดยสมาคมฯ มองว่า ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลทั้งทางตรง และทางอ้อม ที่จะสนับสนุนตลาดรับสร้างบ้านให้กลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ผลจากการตื่นตัวของประชาชนในการนำที่ดินรกร้างว่างเปล่าออกมาใช้ประโยชน์ เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงตามกฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลเตรียมคลอดออกมา ซึ่งก็มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนมีการสร้างบ้าน และส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวได้อีกทางหนึ่ง ผนวกกับแรงผลักดันของบรรดาผู้ประกอบการ ที่ช่วยกันโหมกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 3 นี้ เชื่อว่ามูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การหันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่น่าเชื่อถือ แทนการใช้ผู้รับเหมารายย่อยได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภคมีตัวเลือก และมีความสะดวกมากขึ้น อันเป็นผลมาจากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำหลายรายมีการยกระดับ และพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจตัวเอง สามารถขยายสาขาให้บริการได้ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด รวมถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหม่ๆ ในท้องถิ่น ส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านขยาย และเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน

นายกสมาคมฯ ชี้แนะ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากมองทิศทางและแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในอนาคต มั่นใจว่ายังมีโอกาสขยายและเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องพัฒนา และยกระดับตัวเองให้เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง หาใช่มีแค่แบบบ้านกับโชว์รูมขายเท่านั้น ก็เรียกตัวเองว่าเป็นมืออาชีพรับสร้างบ้านแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มีการบริหารและปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ผลิตภัณฑ์และบริการมีมาตรฐานและขั้นตอนกำหนดไว้ชัดเจน ทีมงานที่มีความรู้และเชี่ยวชาญจริง วิเคราะห์และคำนวณต้นทุนได้แม่นยำ มีแบรนด์และตราสินค้าเป็นที่จดจำของผู้บริโภค ฯลฯ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญที่ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านได้อย่างป็นมืออาชีพ

“ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และพูดคุยกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ เกี่ยวกับราคารับจ้างสร้างบ้านว่า เหตุใดจึงรับสร้างบ้านได้ในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งคำตอบที่ได้จากปากของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุคล้ายๆ กัน คือ ยอมที่จะรับจ้างในราคาเกือบจะเท่าต้นทุนก่อสร้าง หรืออาจเรียกว่าแทบจะทำให้ฟรี นั่นก็เพราะต้องการจะสร้างผลงานตัวอย่าง เพื่อผู้ว่าจ้างรายต่อๆ ไปจะได้รู้สึกมั่นใจที่เลือกใช้บริการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ทุกรายต่างก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูง หากไม่มีผู้ใดว่าจ้างสร้างบ้านอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจมีปัญหาหมุนเงินไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้ไม่ได้ตกอยู่แค่เฉพาะกับฝ่ายผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ผู้บริโภคหรือผู้ว่าจ้างเองก็มีส่วนร่วมในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน”

นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มาโดยตลอด กระทั่งเกิดความร่วมมือกันจัดทำโครงการฝึกอบรมตามหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาสร้างบ้าน โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริง จากกลุ่มรับสร้างบ้านชั้นนำ มาแชร์องค์ความรู้และแนวทางการบริหารธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเป้าหมายของสมาคมฯ ก็คือ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดข้อผิดพลาดของการประกอบธุรกิจสร้างบ้าน พร้อมๆ กับการสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หากท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)


กำลังโหลดความคิดเห็น