xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!! โรงงาน “เครื่องสำอาง” ทั่วประเทศ ผ่านมาตรฐาน 194 แห่ง สธ.เริ่มลุยตรวจขึ้นทะเบียน หลัง กม.บังคับใช้ ลั่นเสร็จใน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เริ่มลุยตรวจมาตรฐานโรงงานผลิต “เครื่องสำอาง” ทั่วประเทศ ลั่นแล้วเสร็จใน ส.ค. นี้ มั่นใจช่วยลดการผลิตเครื่องสำอางปลอม เหตุจดแจ้งออนไลน์ต้องยื่นโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน อย. เท่านั้น ตรวจสอบมาตรฐานซ้ำทุก 3 ปี หากทำผิดสั่งปิดโรงงานทันที อึ้ง!! ก่อนมีกฎหมาย โรงงานยื่นขอมาตรฐานเพียง 194 ราย

วันนี้ (4 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัด สธ. นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.ณรงค์ ตั้งตรงไพโรจน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปทุมธานี เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตเครื่องสำอาง บริษัท ปฐวิน จำกัด อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อดำเนินการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2561 ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 ภายใต้ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2561

นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบพบว่า เป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน มีการผลิตมายาวนานกว่า 28 ปี สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานสถานที่ผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น หากเป็นบริษัทรายใหม่ อย. และ สสจ. ทั่วประเทศ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ส่วนบริษัทรายเก่าจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายใน ส.ค. นี้ ซึ่งขอเตือนโรงงานผลิตเครื่องสำอางทุกรายให้ปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผลิตตามมาตรฐาน เพราะกฎหมายฉบับใหม่มีโทษสูง คือ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นพ.วันชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตเครื่องสำอาง ว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ จะเป็นแบบสมัครใจ เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนด ทำให้มีโรงงานเพียงแค่ 194 ราย ที่ยื่นตรวจสอบมาตรฐานและได้มาตรฐาน GMP ส่วน จ.ปทุมธานี มีผู้ยื่นตรวจสอบและได้มาตรฐาน 21 ราย จากทั้งหมด 1,619 แห่งเท่านั้น ประกอบกับการให้ขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-Submission ทำให้ผู้ไม่สุจริตจดแจ้งเครื่องสำอางได้ง่าย และนำไปผลิตเครื่องสำอางปลอมหรือใส่สารอันตราย ซึ่ง อย. ได้ปรับแก้ไขแล้ว โดยการออกประกาศวิธีการผลิตเครื่องสำอาง โดยการยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางผ่านระบบออนไลน์จะต้องระบุสถานที่ผลิตที่ผ่นเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระบบของ อย. แล้วเท่านั้น จึงต้องเร่งตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เชื่อว่าภายหลัง ส.ค. 2561 สถานการณ์เครื่องสำอางปลอมน่าจะดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการที่ดีเองก็ทำอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจจะเหลือแค่พวกที่ไม่สุจริตที่ตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ปลอมตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องประสานกับทางตำรวจในการตรวจสอบและเอาผิด

“การตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางถือเป็นเรื่องที่ดี และผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องก็มองว่าได้ประโยชน์ เพราะเป็นการช่วยคัดคนที่ทำแบบไม่สุจริตออกไป โดยโรงงานขนาดใหญ่จะใช้มาตรฐาน GMP มีการตรวจสอบทั้งหมด 10 หมวด ส่วนกลุ่มพื้นบ้านหรือโอทอปจะใช้มาตรฐาน Primary GMP โดยมาตรฐานจะมีอายุ 2 ปี แต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะขยายเป็น 3 ปี ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่า มีการแอบใส่สารอันตรายลงไป อย่างพวกสารที่ทำให้ขาว เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน วิตามินเอแอซิด เป็นต้น ก็จะสั่งปิดโรงงานทันที เหมือนกับโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น กรณี “ลีน” ที่แม้โรงงานจะผ่านมาตรฐาน GMP แต่เมื่อตรวจสอบพบก็สั่งปิดโรงงานเช่นกัน และยิ่งหากพบว่าผลิตภัณฑ์ไปทำให้ประชาชนตับไตพิการ ก็จะเอาโทษคุกด้วย” นพ.วัยชัย กล่าวและว่า สำหรับการตรวจสอบขึ้นทะเบียนมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีกี่แห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ อย. จะรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ และหลังจากตรวจสอบเสร็จจะมีการทำเป็นคลังข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า เครื่องสำอางผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานหรือไม่

นพ.วันชัย กล่าวว่า การจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมายในปี 2560 สามารถจับกุมได้หลายร้อยรายการ ส่วนค่าปรับที่ได้จากผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั้งหมดในปี 2560 มีมากถึง 70 ล้านบาท มากที่สุดคือกลุ่มเครื่องสำอาง รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการหลอกขายกันมาก สำหรับมาตรฐานโรงงานผลิตอาหารนั้น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมตรงนี้มานาน ส่งผลให้ต้องมีการตรวสอบมาตรฐานโรงงานผลิตก่อน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารที่ผ่านมาตรฐานทั้งสิ้น 51,744 แห่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น