อย.ทลายโกดังสินค้า “Asia Slim” 4 จุดใหญ่ในโคราช พบเป็นยาชุด ลอบผสมไซบูทรามีนและยาระบาย พร้อมเครื่องสำอางผิดกฎหมาย รวมมุลค่ากว่า 2 ล้านบาท เตรียมเอาผิด 8 กระทง เผยกฎหมายห้ามใช้คำว่า “Slim-Extra White” ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-เครื่องสำอาง จ่อขันนอตระบบใหม่ เรียกทุกยี่ห้อตั้งชื่อด้วยคำต้องห้ามมาหารือ และปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ ชี้ปรับระบบจดแจ้งออนไลน์ใหม่แล้ว ใช้เวลา 3 วันตรวจสอบ เจอคำต้องห้ามถอนคำขอออกทันที
วันนี้ (6 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก. ปคบ. แถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับผลิตภัณฑ์ “Asia Slim”
นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ สธ.และ อย.อยู่ระหว่างการเร่งทลายแหล่งผลิตและสถานที่เก็บสินค้าหรือโกดังของผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย อย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักจะพบปัญหาการลอบผสมสารอันตราย โดยเฉพาะไซบูทรามีน ซึ่งคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ได้ยกระดับให้ไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 เพื่อเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท ซึ่งล่าสุด อย.ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชื่อ “เอเชีย สลิม (Asia Slim)” ที่มีการจำหน่ายและโฆษณาผ่านทางโซเชียลมีเดีย และมีผู้ใช้บางรายรับประทานแล้วเกิดอาการเบลอ เจ้าหน้าที่ อย.จึงร่วมกับตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เข้าทำการตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 4 จุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปคบ.กล่าวว่า จากการทลายแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Asia Slim 4 จุด พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชื่อ Klean และ Extra White ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้จะเอาผิดทั้งหมด 8 ข้อหา ดังนี้ 1.ขายยาชุด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท 3. ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 5.จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากแสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท 6. จำหน่ายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 7. จำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 8. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากซึ่งทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วันชัยกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ Asia Slim ฉลากระบุผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก แต่เมื่อแกะจากซอง พบว่า ภายในเป็นซองพลาสติกใส 2 ซอง และข้างในพบเป็นเม็ดยาลักษณะยาชุด ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยยาเม็ดสีเหลืองเป็นยาระบาย ส่วนแคปซูลภายในบรรจุไซบูทรามีน ซึ่งข้อสังเกตคือ ไซบูทรามีนจะมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีทั้งไซบูทรามีน ทำให้เบื่ออาหาร และมียาระบาย ทำให้เกิดการถ่ายมากขึ้น ก็จะส่งผลให้น้ำหนักลดลงหรือผอมแน่นอน แต่มีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะไปเป็นพิษต่อตับและไต ที่สำคัญคือ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และยิ่งคนอ้วนที่มีหัวใจไม่แข็งแรง พอระบบร่างกายมีปัญหาก็ทำให้หัวใจวายตามมา ซึ่งคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าจะกินมาเป็นเวลานาน
นพ.วันชัยกล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเหล่านี้คือ มีการตั้งชื่อเพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น ใช้คำว่า Slim หรือ Extra White ซึ่งตามกฎหมายของ อย.ห้ามใช้ 2 คำนี้มาตั้งชื่อสินค้าหรือโฆษณา เพราะทำให้หลงเชื่อว่ากินแล้วผอม ทาแล้วขาวทันใจ แต่มีการแอบใส่สารอันตรายลงไป ซึ่งจะไว้ใช้หลอกขายวัยรุ่น หรือผู้หญิงที่อยากผอมอยากขาว ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์ที่แอบทำแล้วขายตามโซเชียลมีเดีย ที่ตั้งชื่อโดยใช้คำว่า Slim หรือ Extra White เท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมายหรือของบริษัทรายใหญ่ก็มีการใช้คำเหล่านี้เหมือนกัน เพราะเห็นว่าสามารถทำได้ ตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ทั้งที่ อย.ห้าม เนื่องจากจะมีความผิดฐานโฆษณา โดยหลังจากนี้ อย.จะค้นในระบบว่ามียี่ห้อใดบ้างที่ตั้งชื่อด้วยคำต้องห้าม และจะเชิญทั้งหมดมาพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งเชื่อพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะรายใหญ่ที่ไม่อยากทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เรียกว่าถึงเวลาต้องมาขันน็อตระบบใหม่เรื่องการตั้งชื่อและโฆษณาที่ใช้คำต้องห้ามใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งต่างประเทศอาจอนุญาตให้ใช้คำเหล่านี้ แต่เมื่อนำเข้ามาในไทยก็ต้องเปลี่ยนชื่อตามข้อกำหนดของไทยด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่าการที่ผลิตภัณฑ์ตั้งชื่อที่มีคำต้องห้ามของ อย.ได้ จนไปโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆ อย่างถูกต้อง มาจากความหละหลวมของระบบจดแจ้งหรือไม่ นพ.วันชัยกล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาระบบจดแจ้งทางออนไลน์หรือ E-Submission เมื่อยื่นจดแจ้งก็จะอนุมัติทันที แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงระบบใหม่ โดยจะใช้ 3 วันในการตรวจสอบก่อนอนุมัติ ซึ่งหากมีคำต้องห้ามเหล่านี้ก็จะไม่อนุญาต นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเกิดจากการที่จดแจ้งชื่อถูกต้อง แต่เมื่อไปผลิตจริงแล้วไปผลิตอีกอย่างหนึ่ง หรือผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้งไว้ จึงเป็นที่มาของการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต หรือนําเข้าเครื่องสําอา พ.ศ. 2561 ซึ่งหากพบว่าโรงงานผลิตไม่ถูกต้อง สามารถสั่งปิดโรงงานได้ทันที ก็จะทำให้โรงงานไม่กล้าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่อยากเสี่ยงถูกปิดโรงงาน
เมื่อถามถึงการลักลอบนำเข้าไซบูทรามีน นพ.วันชัยกล่าวว่า การลักลอบมีหลายทาง ซึ่งต้องประสานกรมศุลกากรในการจับตาตามด่านต่างๆ แต่ยอมรับว่าดำเนินการได้ยาก เนื่องจากมีลักษณะเป็นผงเป็นเกล็ด แต่ก็มีการยกระดับไซบูทรามีนขึ้นเพื่อเอาโทษให้หนักมากขึ้น ส่วนความผิดของคนรีวิวผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนจะมีความผิดเพิ่มมากขึ้นด้วยหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าระดับความผิดจะพิจารณาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของร่วมสินค้านั้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นคนรับจ้างรีวิวธรรมดาที่รับเงินครั้งเดียวแล้วจบโทษก็จะเบากว่า แต่หากตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้วพบว่า เป็นเครือข่ายหรือตัวแทนจำหน่าย ที่เป็นเจ้าของร่วมคือมีรายได้จากการจำหน่ายด้วยนั้น โทษก็จะสูงขึ้น