คกก. วัตถุออกฤทธิ์ฯ เห็นชอบยกระดับ “ไซบูทรามีน” เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ส่งผลโทษรุนแรงมากขึ้น คุกสูงสุด 20 ปี ปรับสูงสุด 2 ล้านบาท หลังพบปัญหาลอบผสมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจนคนตาย เร่งทำประกาศเสนอ รมว.สธ. ลงนามใน ก.ค. นี้
วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งมีวาระในการพิจารณายกระดับสารอันตราย “ไซบูทรามีน” เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เนื่องจากปัจจุบันพบการลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑืเสริมอาหารเพื่อลดความอ้วน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ประเทศไทยถอนทะเบียนยาไซบูทรามีนตั้งแต่ปี 2553 เพราะไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นอันตราย เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร ที่ผ่านมา จึงพบการลักลอบใส่สารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทำให้อาหารไม่บริสุทธิ์ จนมีคนกินแล้วเสียชีวิตหลายราย คณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จึงมีมติยกระดับความรุนแรงของสารไซบูทรามีนให้เป็น วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เพื่อให้โทษมีความรุนแรงมากขึ้น โดย อย. จะไปออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ส่งให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามภายใน ก.ค. นี้
เดิมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร เมื่อพบว่าทำผิดก็จะโทษตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่พอยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 แล้วจะมีโทษรุนแรงขึ้นตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 โดยแบ่งเป็น กรณีผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท กรณีหากผลิตนำเข้า ส่งออกเพื่อขายก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 7 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 7 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท กรณีหากผู้ใดนำเข้ามาผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุจะมีโทษจำคุก 4 - 7 ปี หรือปรับ 8 หมื่นถึง 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผลิตโดยการแบ่งบรรจุเพื่อขาย จะจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี มีโทษปรับ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท และหากผู้ใดขายจำคุก 4 - 20 ปี และปรับ 4 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท แล้วถ้าสืบทราบว่ารู้อยู่แล้วว่าผลิต ขาย ครอบครองผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีสารไซบูทรามีนอยู่แล้วจะมีโทษทางอาญา เอาผิดฐานพยายามฆ่าได้อีกด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว และว่า ขณะนี้กำลังจะมีการพิจารณาควบคุมสารอีกตัวที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเจอเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนควบคุมในประเทศไทยมาก่อน ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ตอนนี้
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้มีการผลิตชุดทดสอบไซบูทรามีน เหมือนชุดทดสอบสเตียรอยด์ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก พร้อมกันนี้ประชาชน ควรมีการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ หากว่ามีการโอ้อวด หรือ ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับว่าผลิตภัณฑ์มีสรรพคุณสามารถเปลี่ยน รักษา หรือลดความอ้วนได้ อันนั้นให้เข้าข่ายน่าสงสัยผลิตภัณฑ์มีการปนเปื้อน อาจมีการลักลอบใส่สารปนเปื้อนได้
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการสืบสวนในทางลึกว่ามีการลักลอบนำเข้าไซบูทรามีนผ่านช่องทางใดบ้าง ทราบว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่คุยกันวันนี้ว่าหากพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลอบใส่ยาแผนปัจจุบัน ก็ควรจะยกระดับเอาผิดตาม พ.ร.บ. ยา ซึ่งจะมีโทษรุนแรงกว่า พ.ร.บ. อาหาร เพราะการทำแบบนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโรค ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะไม่มีฤทธิ์ทางเภสัช เมื่อไหร่ที่มีการโฆษณาอ้างสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก หรือสรรพคุณต่างๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีการลอบใส่ยา หรือสารต้องห้าม ไม่ควรใช้ ถ้าอยากลดน้ำหนักก็ปรับพฤติกรรมกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือปรึกษาแพทย์