กสทช. ร่วมกับ อย. ตรวจเข้มโฆษณาอาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมายมีแนวโน้มที่ดี ไม่พบช่องทีวีดิจิทัลที่กระทำผิด แต่ยังพบในสื่อวิทยุ และเว็บไซต์ พร้อมสรุปข้อเท็จจริงกรณีขอให้ตรวจสอบการออกอากาศละครเรื่อง “บางรักซอย 9/1”
พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.อ.ต. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่สี่ที่ กสทช. ได้ทำงานร่วมกับ อย. ตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์
พบว่าเป็นสัปดาห์แรกที่ไม่พบทีวีดิจิทัล มีการกระทำความผิด ส่วนช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม/เคเบิลทีวี มีช่องใหม่ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 ช่อง ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีหลังจากสำนักงาน กสทช. และ อย. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันต่อเนื่อง แต่ในสื่อวิทยุกลับพบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายบางสถานี
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พบในสื่อโทรทัศน์และวิทยุสัปดาห์นี้มีจำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ คือ 1. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรดั้งเดิม) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 2. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรขิง) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 3. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมหัวปลีผสมอินทผลัม (สูตรมะขาม) ตรา มิลค์ พลัส แอนด์ มอร์ 4. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สกินยูน ออริจินัล จิน เซ็ง โกลด์ เซรั่ม 5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันถั่วดาวอินคา ตราเป็นเอก 6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ธันย์ 7. เครื่องสำอาง aliz paulin 8. ผลิตภัณฑ์ตังถั่ง-ซาร์น 9. ผลิตภัณฑ์คอร์ดีน่า 10. ผลิตภัณฑ์พรหม เรด วัน และ 11. ผลิตภัณฑ์ดี-ทีน่า
ส่วนการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ที่พบว่ามีการกระทำผิดมีจำนวนทั้งสิ้น 30 URL เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ยาทำแท้ง ขับเลือด ขับประจำเดือน และผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย
“นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สัปดาห์นี้ไม่พบช่องทีวีดิจิทัลกระทำผิด แต่สำนักงาน กสทช. และ อย. ก็จะยังทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้จำนวนโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ที่ให้ข้อมูลเกินจริงกับประชาชนมีจำนวนลดลง”
ด้าน ภก. สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์นี้ยังคงพบโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค ซึ่งเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ถือเป็นการสื่อข้อความที่เป็นเท็จ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นลักษณะการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย ส่วนโฆษณาผ่านเว็บไซต์พบการโฆษณาขายยาทำแท้งหลายรายการ ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น
“จึงขอเตือนประชาชน ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต หรือทางเว็บไซต์ต่างๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”
นอกจากนี้ อย. ยังได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาและขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทาง Social Media เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560-20 พ.ค. 2561 มีทั้งสิ้น 1,537 เรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณา 783 เรื่อง แบ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ 44 เรื่อง เครื่องสำอาง 149 เรื่องยา 178 เรื่อง อาหาร 401 เรื่อง และอื่น ๆ 9 เรื่อง ซึ่งมีการดำเนินการแล้วทุกเรื่อง เช่น ทำหนังสือแจ้งปิดเว็บไซต์ไปที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะรายที่เข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม.14(1) และ ม.20 แจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับ รวมถึงส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อสืบหาผู้กระทำผิด เพื่อขยายผลไปยังแหล่งผลิตและจำหน่ายต่อไปด้วย
*** แจงเรื่อง “บางรักซอย 9/1” ไม่ใช่อย่างที่คิด
พล.ท. พีระพงษ์ กล่าวถึงกรณี ผศ. วรัชญ์ ครุจิต ได้ทำหนังสือร้องเรียนเนื้อหาละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 นั้น ขอชี้แจงในรายละเอียดตามลำดับขั้น ดังนี้
1. ผศ. วรัชญ์ ครุจิต มีหนังสือร้องเรียน 12 ธ.ค. 2560 ให้ตรวจสอบช่อง ONE 31 รายการออกอากาศช่วง 19.00- 20.00 น. มีการใช้คำไม่เหมาะสม เช่นตัวละครพูดว่า “พี่คิดว่าผมเป็นผู้ชายเหี้ยๆ คนนึงก็พอ” ตัวละครที่ชื่อเอิร์ธ พูดว่า “กูคงให้ไอซ์ไปคบกับไอ้เหี้ยทอมแทน” และพบคำว่า “กู” และ “มึง” จำนวนมาก
2. สำนักงาน กสทช. โดยสำนักกำกับผังและเนื้อหารายการฯ นำเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการ ครั้งที่ 48/2560 เมื่อวันอังคารที่ 26 ธ.ค. 2560 และอนุกรรมการมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และให้เรียกบริษัท จีเอ็มเอ็มวันทีวี จำกัด เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง
3. บริษัทฯ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการ ในคราวประชุมวันที่ 16 ม.ค. 2561 ที่ประชุมสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้ บริษัทฯ ยอมรับว่า บางถ้อยคำเป็นคำพูดที่วัยรุ่นพูดกันในชีวิตจริง แต่อาจไม่เหมาะสมในการออกอากาศ บริษัทฯ ยอมรับ และจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเหมาะสม พร้อมดำเนินการดูดเสียง หรือตัดฉากที่มีถ้อยคำรุนแรงเกินไปออก
สำหรับการใช้คำบางคำ เช่น คำที่ใช้กันในสมัยโบราณ ตามประกาศ กสทช. ว่า ด้วยการจัดระดับความเหมาะสมของรายการนั้น ได้กำหนดให้พิจารณาถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้พิจารณาด้วยความรอบคอบก่อนมีมติ
ที่ประชุมอนุกรรมการมีมติว่า รายการละครดังกล่าวมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมจริง เมื่อบริษัทฯ ได้ยอมรับว่าจะปรับปรุงแก้ไขฉากที่มีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม และจะขึ้นข้อความเตือนในฉากที่อาจมีความล่อแหลม จึงเห็นว่ามีความผิดแต่สามารถตักเตือนได้ พร้อมกำชับให้บริษัทฯ ใช้ความระวังเกี่ยวกับเรื่องภาษา และความรุนแรงในการผลิตรายการ
4. สำนักงาน กสทช. นำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาให้ความเห็นตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และนำเสนอกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 กรรมการ กสทช. มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ (คือเมื่อบริษัทฯ ยอมรับและนำไปดำเนินการปรับปรุง จึงเห็นควรยุติเรื่อง)
5. กสทช. ขอเรียนว่า กสทช. ไม่ได้กำหนดมาตรฐานใดๆ ที่เป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการใช้ถ้อยคำหยาบ คำไม่สุภาพ หรือความรุนแรงในรายการ อีกทั้งยังเฝ้าระวัง กวดขันให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการผลิตรายการและการกำหนดระดับความเหมาะสมของรายการให้เป็นไปตามประกาศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด สำหรับมาตรการกำกับดูแลที่ผ่านมา ในชั้นต้นจะใช้วิธีการตักเตือนและขอความร่วมมือ ก่อนการบังคับใช้กฎหมาย และออกคำสั่งทางปกครองตามลำดับขั้น จึงใคร่ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย