xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! กสทช.ให้ใช้คำว่า “ไอ้เ_ี้ย” พูดออกทีวีได้ ในรายการ “ท” รับชมได้ทุกเพศทุกวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสทช. แจ้งผลการพิจารณาละครซิตคอม “บางรักซอย 9/1” ช่อง ONE 31 ระบุให้ใช้คำว่า “เ_ี้ย” พูดออกอากาศได้ เพราะไม่ใช่บริบทที่พบบ่อย นักวิชาการเคือง นี่หรือมาตรฐานใหม่ จะให้ผู้ผลิตคิดเนื้อหาเสื่อมๆ ยังไงก็ได้งั้นหรือ งัดหลักฐานคำหยาบ 92 ครั้ง ทั้งที่ได้รับเรต “ท” ชมได้ทุกเพศทุกวัย

วันนี้ (2 มิ.ย.) เฟซบุ๊กของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยแพร่หนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผลการพิจารณา กรณีที่ละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ร้องเรียนว่ามีการใช้ภาษาและคำพูดที่ไม่เหมาะสม เช่น ตัวละครที่ชื่อ ชัดแจ้ง (แสดงโดย วุฒิภัทร โอภาสตระกูล หรือ ตงตง เดอะสตาร์ 12) พูดว่า “พี่คิดว่าผมเป็นผู้ชายเ_ี้ยๆ คนนึงก็พอ” และตัวละครที่ชื่อเอิร์ธ (แสดงโดย นน ชานน สันตินธรกุล หรือ นน ฮอร์โมน) พูดว่า “กูคงให้ไอซ์ไปคบกับไอ้เ_ี้ยทอมแทน” นอกจากนี้ ยังมีการใช้คำพูดว่า “กู” และ “มึง” อยู่หลายครั้ง ไม่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมของรายการไว้ที่ระดับ “ท” (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย)

สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาละครเรื่อง บางรักซอย 9/1 นั้น มีการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพในบางครั้ง ซึ่งไม่ใช่บริบทที่พบบ่อยในการนำเสนอ จึงเห็นว่า เป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับการจัดระดับความเหมาะสมไว้ที่ระดับ “ท” (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) ทั้งนี้ ได้เชิญบริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการช่อง ONE 31 เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 โดยบริษัทยอมรับว่า จะปรับปรุงแก้ไขฉากที่มีการใช้คำพูดไม่เหมาะสม โดยจะใช้เทคนิคเพื่อลดการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ และจะขึ้นข้อความเตือนในฉากที่ตัวละครซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพและนำไปสู่สถานการณ์ที่มีการใช้อารมณ์ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ และจะระมัดระวังการนำเสนอฉากที่มีสถานการณ์นำไปสู่การปะทะอารมณ์ของวัยรุ่นให้มากยิ่งขึ้น จึงมีมติให้ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า “บรรทัดฐานใหม่! กสทช. ฟันธง สามารถใช้คำว่า “ไอ้เ_ี้ย” (ที่ไม่ได้แปลว่าสัตว์เลื้อยคลาน) ในรายการโทรทัศน์ประเภท “ท. ทุกวัย” ได้ ถ้าใช้ไม่บ่อย แชร์หรือบอกต่อๆ กันไปให้ช่องอื่นรู้ด้วยเลยครับ ถ้าท่านมีรายการ ท. ทุกวัย ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนรับชม สามารถใช้คำว่า “ไอ้เ_ี้ย” ได้เลย ไม่มีปัญหา กสทช. รับรองว่าใช้ได้ ไม่โดนปรับ สอดคล้องกับรายการสำหรับผู้ชมทุกวัย” เรื่องดังกล่าว กลายเป็นที่วิจารณ์ถึงวิจารณญาณของ กสทช. จำนวนมาก โดยมีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา อาทิ

“ต่อไปเด็กอนุบาลจะได้ฝึกพูดคล่องๆ ปาก”

“ทีหัวนมโงกุนมึงเซ็นเซอร์กัน”

“เด็กสมัยนี้ถึงพูดคำสารพัดสัตว์กันในที่สาธารณะอย่างคล่องปาก ทั้งชายและหญิง”

“คำหยาบคายไม่ต้องใช้ออกสื่อก็ได้ เดินไปทางไหนก็ได้ยิน อย่าสร้างความไม่มีมารยาทให้เด็กยุคใหม่เลย เราเคยว่าคนจีนมาเที่ยวบ้านเราไม่มีมารยาท บ้านเราก็ใกล้เข้าไปทุกทีแล้ว ถ้าสื่อยังเป็นแบบนี้”

“ต่อไม่มีในรายการ พ่อแม่บ้างคน ก็ไอ้เ_ี้ย ไอ้สั_ว์ จนกลายเป็นคำทักทายยามเช้าในบ้านบางบ้าน พ่อแม่นั่งดูด้วยก็ต้องสอนลูกด้วยนี้คำไหนไม่ดี แต่ให้ดีอย่าไปดู อย่ามัวอินกับละครมาก ถ้ายกตัวอย่างฝรั่งมา เขายังพยายามไม่ให้ลูกหลานพูดคำสบถ”

“สำหรับท่านที่บอกว่า สังคมตอนนี้พบเจอคำหยาบคายเป็นเรื่องปกติ อยากให้มองอีกมุมว่า มันคือเหตุผลอันชอบธรรมที่จะให้เด็กมาเจอในจอสี่เหลี่ยมอีกหรือไม่ ต้องเป็นอย่างนั้นหรือ อีกประเด็นคือ ระดับความเหมาะสมของรายการ มีการจำแนกความรุนแรงที่สามารถนำเสนอได้หลากหลายระดับ ไม่ใช่รายการทีวีจะต้องมีแต่รายการใสๆ อินโนเซนส์ตามที่ท่านว่า ปัญหาของเคสนี้ คือเรื่องของการพบเจอประเด็นภาษาหยาบคายในรายการเรต “ท” ขอตั้งข้อสังเกตอีกประเด็น เรต “ด 6+” ซึ่งมักเป็นเรตประเภทรายการการ์ตูน รายการที่มุ่งเน้นให้เด็กประถมดู กับเรต “ท” “ต่างมีระดับภาษาคือระดับที่ 1 เท่ากัน” นั่นหมายความว่า หากพบคำว่า เ_ี้ย ได้ไม่บ่อย ก็สามารถพูดได้ ใช่หรือไม่”

“ไม่ว่าจะเป็นคำสบถ ด่า อุทาน ก็ไม่ควรมีคำว่า “เ_ี้ย” ออกทางสื่อสาธารณะ กสทช. มีเหตุผลอันใด อยากรู้จริงๆ”



ผศ.วรัชญ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ประเด็นคำหยาบในสื่อ มีหลายคนคอมเมนต์ประมาณว่า “โถ จะไปคิดอะไรมาก เด็กๆ สมัยนี้เค้าพูดกันเป็นเรื่องปกติ ไปไกลกว่านั้นเยอะแล้ว” มันคนละประเด็นกัน ถ้างั้นเราปล่อยฟรี ไม่ต้องมีการปกป้องเยาวชนอะไรเลย ผู้ผลิตคิดเนื้อหาอะไรก็ได้แรงๆ โป๊ หยาบ รุนแรง ล้อเลียนเหยียดเพื่อนมนุษย์ มาล่อเยาวชนเรียกเรตติ้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า เยาวชน (ส่วนหนึ่ง) เค้าไปไกลกว่านี้มากแล้ว แบบนี้เหรอ

กสทช. พิจารณาว่า “มีการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพในบางครั้ง ซึ่งไม่ใช่บริบทที่พบบ่อยในการนำเสนอ” ไม่ทราบว่าได้ดูคลิปที่ส่งให้หรือไม่ ตนกลับไปดูใหม่ ในช่วงเวลา 5 นาที (นาทีที่ 6.00 - 11.00) นับคำไม่สุภาพ “กู” 39 ครั้ง “มึง” 35 ครั้ง “เ_ย” 3 ครั้ง “ไอ้” 4 ครั้ง “วะ” “เว้ย” 11 ครั้ง รวมทั้งหมด 92 ครั้ง เฉลี่ยแล้วผู้ชมจะได้ยินคำหยาบทุกๆ 3.26 วินาที ใน 5 นาทีนี้ นี่คือ คำว่า “บางครั้ง” และ “ไม่ใช่บริบทที่พบบ่อย” ของ กสทช. ตนจะทำเรื่องอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อไป ไม่ใช่นั้นจะเกิดมาตรฐานใหม่ในการใช้คำหยาบคายในสื่อมวลชน






กำลังโหลดความคิดเห็น