xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยแนะวิธีแก้ “เครื่องสำอาง” ปลอม ไม่ต้องยกเลิกจดแจ้งออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ยันไม่ยกเลิกจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ ชี้ เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ด้านนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ ยกเลิกจดแจ้ง “เครื่องสำอาง” ออนไลน์ ไม่ช่วยแก้ปัญหาสินค้าเถื่อน เหตุเกิดจากการลอบเติมสารอันตราย แนะทางออกแก้ปัญหา เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบ แจ้งเตือนประชาชนรวดเร็ว ยก อย. สหรัฐฯ มีเพจแสดงรายชื่อสินค้ามีสารพิษเกินเกณฑ์และผิด กม. เสนอว่าจ้างหน่วยงานภายนอกทำหน้าที่แทน

จากกรณีเครือข่ายผู้บริโภคเคยเสนอให้มีการยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ เนื่องจากทำให้ได้เลขจดแจ้ง อย. ง่าย และเกิดการลักลอบใส่สารอันตรายลงในเครื่องสำอาง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับระบบการจดแจ้งออนไลน์ โดยผู้ยื่นขอจดแจ้งจะต้องระบุสถานที่ผลิต เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานและอยู่ในระบบของ อย. ซึ่ง อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ อยู่ระหว่างการตรวจมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางเพื่อขึ้นทะเบียนในระบบฐานข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน ส.ค. นี้

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. คงไม่ยกเลิกการจดแจ้งเครื่องสำอางผ่านทางออนไลน์หรือระบบ E-Submission เนื่องจากเป็นการถอยหลังเข้าคลอง กลับไปสู่ยุคกระดาษ ผู้จดแจ้งต้องเดินทางเข้ามาพบเจ้าหน้าที่ อย. เพื่อสอบถามและขอจดแจ้ง และต้องลงไปตรวจสถานที่ผลิต ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ดี ที่ทำถูกต้อง ซึ่งแต่ละวันมีผู้ยื่นจดแจ้งผลิตเครื่องสำอาง 700 - 800 รายการต่อวัน หากกลับไปแบบเดิมไม่ใช้ออนไลน์ก็จะเกิดปัญหาและความลำบาก ซึ่ง อย. ก็ปรับโดยต้องยื่นสถานที่ผลิตที่เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานของ อย.

ด้าน น.ส.ธารทิพย์ สุวรรณเกศ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การยกเลิกระบบจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น เนื่องจากปัญหาไม่ได้เกิดจากการยื่นจดแจ้ง แต่ปัญหาน่าจะเกิดจากการผลิตสินค้าที่นำมาขายจริงกลับมีการเติมสารที่ไม่ได้แจ้ง อย. หรือผลิตสินค้าโดยปลอมแปลงเลขที่ใบรับแจ้ง ถึงแม้จะมีการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ อย. โดยตรง เพื่อให้มีการตรวจสอบ แต่การตรวจสอบนั้นจะเกิดเฉพาะในช่วงการขอจดทะเบียนเท่านั้น หากแต่ไม่ได้มีการสุ่มตรวจสอบสินค้าเมื่อวางขายในตลาด นอกจากนี้ การยกเลิกระบบการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยประเทศไทยได้ลงนามในความตกลง Agreement on ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme (AHCRS)  ทำให้การกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนวางตลาด ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดรายการสารต้องห้ามที่ใช้เป็นส่วนผสม การแสดงฉลาก รวมถึงการจัดทำเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียนแล้ว ยังกำหนดให้ประเทศภาคีใช้ระบบการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายแทนการจดทะเบียน

น.ส.ธารทิพย์ กล่าวว่า แนวโน้มการกำกับดูแลเครื่องสำอางของทุกประเทศ ปรับไปสู่การจดแจ้งผ่านระบบออนไลน์มากกว่าการไปขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับเจ้าพนักงานโดยตรงแล้ว แต่ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย (Post Market Surveillance) อย่างมาก อย่างสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและยา (FDA) มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดเกือบ 5,000 คน ทั้งในส่วนกลางและสำนักสาขาทั่วประเทศ โดยสุ่มตรวจสินค้าที่วางขายในตลาดและบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หากตรวจพบว่า สินค้าใดมีการปิดฉลากที่ไม่ถูกต้องหรือมีส่วนประกอบที่ไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นจดแจ้ง จะพิจารณาเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดทั้งหมด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตหรือผู้ขายอย่างจริงจัง

น.ส.ธารทิพย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน อย. เป็นหน่วยงานที่มีสำนักงานแค่ในส่วนกลางและมีอัตรากำลังเพียง 700 กว่าคน ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ได้มีหน้าที่เพียงตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในตลาดทั้งหมดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น แม้จะมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ แต่มองว่า ยังต้องเพิ่มความเข้มงวดในการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบสินค้าในตลาดและออนไลน์เพิ่มขึ้น ทุก 3 - 4 เดือน พร้อมเปิดเผยการดำเนินงานต่อสาธารณะ หากพบสินค้าที่เป็นอันตรายหรือละเมิดกฎหมาย ต้องส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเร่งกวาดล้าง และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็ว เช่น FDA สหรัฐฯ ที่มีเพจ “Recalls and Alerts” ที่แสดงรายชื่อสินค้าและผู้ผลิตสินค้าที่ตรวจพบว่า มีสารพิษเกินกว่าเกณฑ์และ FDA สหรัฐฯ ได้แจ้งเตือน หรือออกคำสั่งให้ถอนสินค้าดังกล่าวออกจากตลาด ส่วนในระยะยาว อย. อาจพิจารณาว่าจ้างหน่วยงานภายนอก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าหลังวางขาย หากกำลังคนไม่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะไม่มีการใช้สินค้าที่มีการแอบอ้าง อย. อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น