ทีมโฆษกรัฐ เผย ครม.เห็นชอบตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ บูรณาการร่วม สคบ.-หน่วยงานเอกชน พร้อมเคาะ พม.ใช้งบฉุกเฉินอุดหนุนโครงการเด็กแรกเกิด 1.4 พันล้าน หลัง ปรับนโยบายแล้วเงินไม่พอ
วันนี้ (5 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนออนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ โดยรัฐธรรมนูญมาตราที่ 46 บัญญัติเกี่ยวกับการรับรองสิทธิของผู้บริโภค โดยระบุว่า ผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยบุคคลมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันหากมีเพียง สคบ.ทำหน้าที่เพียงหน่วยงานเดียวอาจส่งผลให้การทำงานไม่ทั่วถึง เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดตั้ง ในส่วนของอำนาจการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐให้เป็นไปตามตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การแบ่งพื้นที่ในประเทศไทยออกเป็น 10 พื้นที่ โดยกรุงเทพมหานครนับเป็นหนึ่งพื้นที่ โดยคณะกรรมการจะเลือกตัวแทนจากชมรมต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 10 ราย สำหรับดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีก 9 ราย ได้แก่ ด้านการขนส่ง ด้านการเงิน ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ด้านบริการสาธารณะ และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องในการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยคณะกรรมการทั้ง 19 คนจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน ในการประสานนโยบายสำหรับคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาสินค้า ข่าวสาร การเตือนภัย สินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และเกิดความเสียหายกับผู้บริโภค ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสามารถทำหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคที่ถูกฟ้องจากการใช้สิทธิแทนผู้บริโภคอีกด้วย โดยจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ
พล.ท.สรรเสริญยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เสนอ การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำนวน 1,571 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนเฉพาะกิจในโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จากเมื่อปี 2558 รัฐบาลมีโครงการอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่พ่อแม่ยากจน โดยเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 ถึง 30 ก.ย. 2559 จะได้รับเงินช่วยเหลือในฐานะเด็กแรกเกิดจำนวน 400 บาท ก่อนจะมีการขยายอายุของเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือจาก อายุ 1 ปี เป็นตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่เกิน 3 ปี พร้อมขยายวงเงินจาก 400 บาท เป็น 600 บาท ก่อน ครม.ให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดที่ระบุว่า แรงงานที่อยู่ในประกันสังคม แต่เดิมไม่เคยได้สิทธิดังกล่าว แต่ขณะนี้ แรงงานที่มีชื่ออยู่ในประกันสังคมและเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถได้รับเงินอุดหนุนเป็นค่าเลี้ยงดูเด็กด้วย ทำให้มีเงินใช้ในโครงการนี้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าว 1437 ล้านบาท