แม้หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จะเริ่มกระเตื้องขึ้น แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่า การปรับฐานใหญ่จบสิ้นลงหรือยัง เพราะปัจจัยที่สร้างความกังวลให้นักลงทุน ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะผลประกอบการที่คาดว่า จะตกต่ำ จนเกิดการเฝ้ารองบการเงินไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะประกาศในอีกประมาณ 3 สัปดาห์ข้างหน้า
ราคาหุ้น SCB วันอังคารที่ 26 มิถุนายน โงหัวขึ้นมาเป็นวันแรก หลังจากทรุดลง 5 วันทำการ โดยปิดที่ 124.50 บาท เพิ่มขึ้น 50 สตางค์
ความจริงหุ้น SCB ไม่ได้ปรับฐานรุนแรงนัก เพียงแต่เทียบกับหุ้นธนาคารอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน SCB ลงมากกว่า
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ราคาหุ้น SCB ปิดที่ 137.50 บาท หลังจากนั้นมีแรงขายไหลทะลักเข้ามา กดดันให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลง โดยเมื่อเทียบกับจุดปิดล่าสุดวันที่ 26 มิถุนายน ราคาลดลงรวม 13 บาท หรือประมาณ 10 %
การปรับตัวลงอย่างโดดเด่น เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน และการคาดหมายว่า ผลประกอบการ SCB อาจชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก รวมทั้งแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงขึ้น จนกลายเป็นแรงกดดันซ้ำเติม กระตุ้นให้นักลงทุนเทขาย
ไตรมาสแรก SCB มีกำไรสุทธิจำนวน 11,364.45 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,911.11 ล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 2/2561 นักลงทุนมองว่า กำไรอาจลดลงในทิศทางเดียวกับไตรมาสแรก เนื่องจากรายได้จากค่าธรรมเนียมน้อยลง และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนพัฒนาด้านไอทีสูงขึ้น
รวมทั้งกังวลปัญหา NPL โดย SCB ปล่อยกู้ให้บริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก ยอดหนี้ที่ปล่อยแต่ละราย วงเงินหลายหมื่นล้าน ซึ่งสินเชื่อของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSIกลายเป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว และถ้าลูกหนี้รายอื่นเป็น NPL ตามมาอีก จะกระทบต่อกำไรของ SCB
แม้ผู้บริหาร SCB จะออกมาชี้แจงถึงข่าวลือ โดยยืนยันว่าผลประกอบการธนาคารยังเติบโต ถึงแม้ ปัญหา NPL จะไม่น่ากังวล แต่นักลงทุนไม่กล้าผลีผลามเข้าไปช้อนหุ้น
และต้องการรอให้สถานการณ์วุ่น ๆ ใน SCB สงบลงเสียก่อน
รอดูความชัดเจน การปรับโครงสร้างการบริหารภายใน เพราะมีกรรมการใหม่เข้ามาหลายคน โดยเฉพาะ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ที่เข้ามาเป็นกรรมการอิสระ ซึ่งก่อนหน้ามีข่าวว่า จะเข้ามาตรวจสอบสินเชื่อของธนาคาร
และรอดูงบการเงินไตรมาสที่ 2/2561 ว่า จะฟุบลงจริงหรือไม่ ตัวเลข NPL จะพุ่งขึ้นเพียงใด และคงยังไม่ผลีผลามช้อนหุ้น SCB นัก
แม้จะเป็นหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีก็ตาม
SCB อยู่ระหว่างการปรับตัวครั้งใหญ่ มีแผนปิดสาขา จากจำนวน 1,153 สาขา เหลือเพียง 400 สาขา ลดพนักงานจากจำนวนประมาณ 27,000 คน เหลือประมาณ 15,000 คน โดยจะทุ่มงบประมาณพัฒนาด้านไอทีแทน
การปรับตัวทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งการชดเชยพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง และการลงทุนด้านไอที ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการในระยะสั้น จนนำไปสู่ความคาดหมายว่า ผลกำไรของ SCB จะลดลงต่อเนื่อง
นักลงทุนที่กังวลในความเสี่ยง ชิงขายหุ้นออก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถอยมาปักหลัก เพื่อรอดูความชัดเจนในการปรับโครงสร้างผู้บริหาร และงบการเงินไตรมาสที่ 2 เพราะจะเป็นสิ่งยืนยันว่า ผลกำไร SCB ไม่ได้ย่ำแย่ตามที่ผู้บริหารธนาคารออกมายืนยันจริงหรือไม่
แนวโน้มระยะสั้น หุ้น SCB ไม่น่าจะไปไหนไกล เพราะนักลงทุนคงได้แต่เฝ้าสังเกตการณ์ไปก่อน หลังจากประกาศงบไตรมาส 2 แล้วค่อยว่ากันใหม่
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )