“สัมมากร” เผย 5 เดือนแรกตลาดรวมแนวราบยอดโอนกรรมสิทธิ์พุ่ง 40% สวนทางยอดขาย-เปิดโครงการใหม่ชะลอตัว ระบุแนวโน้มบ้านระดับบนขยายตัวดี คาดครึ่งปีหลังผู้ประกอบการรุกทำตลาดเพิ่ม ห่วงทาวน์เฮาส์-ทาวน์โฮม 2.5-3 ลบ. ยอดรีเจกต์เรตขยับเพิ่ม เหตุลูกค้าไม่รักษาวินัย มีหนี้บัตรเครดิตสูง กระทบความสามารถในการซื้อ และผ่อนชำระหนี้ลด แจงทุ่มงบ 100 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการตลาดสด 2 แห่ง ปั๊มยอดรายได้จากธุรกิจเพื่อเช่า ด้าน นายก ส.อาคารชุดไทย ยอมรับ แบงก์เข้มลูกค้าติดหนี้บัตรเครดิต ส่งผลยอดปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น กระทบยอดขาย
นายกิตติพล ปราโมทย์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-พ.ค.) ว่า พบยอดโอนกรรมสิทธิ์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 และเป็นอัตราเติบโตที่มากกว่าตลาดคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดบ้านระดับบนมีการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเปิดตัวโครงการใหม่ที่คาดว่าจะในครึ่งปีหลังจะมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบที่เปิดขายในปีที่ผ่านมา จะมีอัตราการโอนที่ขยายตัวดีกว่า ส่วนการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยกเว้นในกลุ่มโครงการบ้านระดับบน ที่ในครึ่งปีหลังจะเห็นการเปิดตัวโครงการมากขึ้น เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และไม่มีปัญหาในเรื่องการยื่นขอสินเชื่อ เพราะกำลังซื้อสูง”
สำหรับตัวเลขการขายใน 5 เดือนแรก พบว่ายังขยายตัวต่ำกว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะตลาดแนวราบระดับราคา 2.5-3 ล้านบาท ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มทาวน์เฮาส์ และทาวน์โฮม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลัก ส่วนใหญ่ยังติดปัญหาหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตที่ต้องชำระในวงเงินสูง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายผ่อนปรนการอนุมัติการออกบัตรเครดิตมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูง ทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวจำนวนมาก ไม่ผ่านเกณฑ์การขออนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รีเจกต์เรต)เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งได้เกิดขึ้นกับทุกๆ บริษัท รวมถึงบริษัทสัมมากรฯ ด้วย
“แม้ว่าในช่วงจองซื้อบ้าน “สัมมากร” ได้วางมาตรการตรวจสอบลูกค้า โดยการให้ลูกค้า Pre Approve ตรวจสอบสถานะการเงินความสามารถในการกู้ และความสามารถในการผ่นอชำระของลูกค้าก่อนแล้ว แต่พบลูกค้าบางส่วน ที่ยื่น Pre Approve แจ้งข้อมูลด้านการเงินไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่แจ้งเรื่องยอดหนี้บัตรเครดิต ทำให้การตรวจสอบบ่งบอกว่า ลูกค้ามีความสามารถถึงเกณฑ์ และไม่ติดภาระหนี้ แต่เมื่อยื่นขอสินเชื่อจริงสถาบันการเงิน มีการตรวจสอบสถานะการเงินที่ครอบคลุมทุกส่วน จะทราบว่าลูกค้าที่ยื่นกู้มีภาระหนี้บัตรเครดิต ทำให้กระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระที่ลดลง และถูกสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อในที่สุด”
นายกิตติพล กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 5 เดือนแรกว่า ยอดโอนและยอดขายยังขยายตัวไม่มาก ทำให้มีตัวเลขต่ำกว่ากว่าเป้าที่วางไว้ โดยวางยอดขายไว้ทั้งปีที่ 1,400 ล้านบาท ตัวเลขยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปีอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุที่การตั้งเป้ายอดโอนไว้สูงกว่ายอดขาย เพื่อรองรับปัญหาเกี่ยวกับลูกค้าติดปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนค่อนข้างมาก
“จากการที่ลูกค้าของสัมมากร มียอดถูกรีเจกต์เรตอยู่มาก ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทต้องมีการทบทวนแผนการทำตลาดผ่านสื่อต่างๆ ว่า สื่อที่ใช้นั้นตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทต้องการหรือไม่”
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวย่านถนนราชพฤกษ์ พัฒนาบนเนื้อที่โครงการ 45 ไร่ จำนวน 180 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 4-5 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ของปีนี้
“ในช่วงที่รายได้จากกลุ่มอสังหาฯ เพื่อขายที่ยังไม่ดีนัก บริษัทได้เสริมรายได้ในกลุ่มธุรกิจเพื่อเช่าหรือรายได้ระยะยาว โดยได้ใช้งบ 100 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการตลาด โดยตลาดดังกล่าวเป็นตลาดเก่าที่มีผู้เช่าเต็มอยู่แล้ว ทำให้สามารถรับรู้รายได้ในทันที ทำให้ปัจจุบัน สัมมากร มีธุรกิจเพื่อเช่าอยู่ในพอร์ตในประเภทกลุ่มธุรกิจคอมมูนิตีมอลล์ 3 ทำเล และตลาดเพื่อเช่า 2 แห่ง โดยจะมีรายได้จากธุรกิจเพื่อเช่าต่อปีอยู่ที่ 300 ล้านบาท และจะมีรายได้จากค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้น หลังจากซื้อตลาดดังกล่าวเข้ามาเพิ่มในพอร์ตตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป"
ส.อาคารชุดไทย ห่วงยอดรีเจกต์เรตพุ่ง
ดร. อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ถึงสถานการณ์ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยยอมรับว่า เรื่องของสินเชื่อบุคคลโดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่กำลังส่งผลกระทบ เนื่องจากในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เป็นห่วงหนี้บัตรเครดิตของลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัย อาจมีความสามารถผ่อนชำระน้อยลง ส่งผลให้เวลานี้ยอดรีเจกต์เรตสูงขึ้น กระทบต่อยอดขายอสังหาริมทรัพย์
“อย่างไรก็ตาม ผลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งเพิ่มพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น มีการผ่อนปรน และอาจจะมีการชะลอการปฎิเสธสินเชื่อ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นกับทุกโครงการ หากโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในซอย การพิจารณาเรื่องการอนุมัติอาจจะเข้มงวดกว่าคอนโดมิเนียมที่อยู่แนวรถไฟฟ้า หรือติดกับแนวถนน ในส่วนของริชชี่ เพลซฯ สัดส่วนรีเจกต์เรตในปีนี้ สัดส่วนไม่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ระดับ 20%”.