xs
xsm
sm
md
lg

ลีสซิ่งกสิกรฯ ชูกลยุทธ์ Data Analytics-ดันยอดสินเชื่อแตะ 4.5 หมื่น ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลีสซิ่งกสิกรไทย พร้อมรับตลาดรถยนต์ขาขึ้นในครึ่งหลังของปี 61 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมนำ Data Analytics มาใช้หาความต้องการเชิงลึกเพื่อเสนอสินเชื่อได้อย่างตรงใจครบทุกมิติ โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ายื่นขอ คาดการณ์ประเมินตลาดรถช่วยได้ปีนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายศาศวัต วีระปรีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางกลยุทธ์หลักของบริษัทในปีนี้ จะนำร่องใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์สินเชื่อจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Data Analytics เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล, การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง, การนำเสนอวงเงินอนุมัติ ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์ความต้องการและเข้าใจลูกค้าในมิติที่ลึกขึ้น นำไปสู่การเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการได้ถูกเวลา โดยที่ลูกค้ายังไม่ได้ยื่นขอ ซึ่งจากที่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเสนอสิทธิพิเศษให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ในช่วงงาน Motor Show 2018 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น ในครึ่งหลังของปี 61 ลีสซิ่งกสิกรไทย เดินหน้าปักธงนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ทั้งภาคบุคคล และภาคธุรกิจ รวมถึงผนึกกำลังกับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์พันธมิตรในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้ตรงใจ รวดเร็ว และสะดวกสบาย ซึ่งคาดว่าการปล่อยสินเชื่อที่จะมาจากการใช้เทคโนโลยี Data Analytics ไว้ราว 500 ล้านบาท พร้อมทั้งวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงเพื่อขยายฐานสินเชื่อคุณภาพดี โดยตั้งเป้า NPL ในปีนี้ไว้ไม่เกิน 1.73%

ในอีกด้านหนึ่ง ลีสซิ่งกสิกรไทยจะมุ่งรุกตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก และขนาดกลาง และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง โดยทุกผลิตภัณฑ์ก็จะนำเอากลยุทธ์ Data Analytics มาใช้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุด และนำเสนอสิ่งที่ตรงใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปักธงตั้งเป้ายอดครึ่งหลังของปีนี้ไว้ที่ 45,585 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่และสินเชื่อรถช่วยได้ 23,424 ล้านบาท และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 22,161 ล้านบาท

ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ลีสซิ่งกสิกรไทยวางแผนเดินหน้าในการขยายฐานลูกค้าแบบก้าวกระโดด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยมุ่งเป้าไปที่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ได้แก่ การออกผลิตภัณฑ์และแคมเปญส่งเสริมส่งเสริมการขายในกลุ่มรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งกำลังได้รับความนิยม และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้ของแบรนด์รถยนต์ชั้นนำต่างๆ ตลอดจนการเปิดสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าที่เริ่มมีมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนาเป็นโครงการในระยะยาว และด้วยกลยุทธ์ Data Analytics ที่แม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลค้า จึงทำให้มั่นใจว่าทุกผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ และการพัฒนาแคมเปญส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงใจ และถูกเวลา รวมไปถึงจะส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อผ่านผู้แทนจำหน่ายรถพันธมิตรของลีสซิ่งกสิกรไทย มีแนวโน้มปิดการขายได้ง่ายขึ้น

“เรามองว่า อนาคตของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไว้ว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น จึงเกิดการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งในครึ่งหลังของปี 61 นี้ ลีสซิ่งกสิกรไทยเองก็จะเร่งรุกในช่องทางนี้อย่างเต็มตัว โดยมีสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยเป็นตัวนำ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อปรับสภาพคล่องของรายย่อย ใกล้เคียงกับสินเชื่อเงินสด ซึ่งมั่นใจว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลในปัจจุบันที่ผนึกกำลังร่วมกันกับช่องทางของธนาคารกสิกรไทย จะทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับสินเชื่อรถได้เพียงคลิกเดียว และสามารถให้บริการรวมถึงรองรับการขยายตัวที่รวดเร็วของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าผ่านเทคโนโลยี Data Analytics ที่แม่นยำแล้ว จะสามารถตอบโจทย์ และสอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบัน ที่ศึกษาข้อมูลสินเชื่อออนไลน์ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการและผลิตภัณฑ์”

นายศาศวัต กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปี 61 ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี มียอดขายรวมทั้งสิ้น 316,299 คัน หรือขยายตัวกว่า 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งทิศทางดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปตลอดทั้งปีนี้ ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 61 น่าจะมีจำนวนประมาณ 484,000 คัน หรือคิดเป็นขยายตัวกว่า 5%YoY และภาพรวมยอดขายทั้งปีก็น่าจะขยับขึ้นมาปิดที่ 950,000 คัน หรือขยายตัวประมาณ 9% จากปี 60 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวได้รับแรงหนุนสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การลงทุนทั้งจากภาครัฐ และเอกชน การเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และ e-commerce ซึ่งมีผลดีต่อธุรกิจขนส่ง และภาคบริการ ตลอดจนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของด้านธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ที่คาดว่า ในครึ่งแรกของปีจะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 10.5% และมีแนวโน้ม NPLs (หนี้ค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ที่ปรับตัวดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น