xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ชี้แบงก์เข้าสู่ยุคท้าทาย-ค่าฟีวูบฉุดกำไร Q2/61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติ ระบุสถาบันการเงินเข้าเข้าสู้ความท้าทาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจ มีแนวโน้มกำไรแบงก์คงไม่โตเหมือนก่อน ชี้ผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 2 รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงจากการลดค่าธรรมเนียมดิจิทัลแบงกิง ด้านมาตรฐานบัญชีใหม่แบงก์สำรองเพิ่ม 4-5 หมื่นล้านบาท สั่งประเมินผลกระทบส่ง ธปท. ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ พร้อมยืนยันไม่ปรับเกณฑ์ห้ามแบงก์ทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับการลงทุนสกุลดิจิทัล เพื่อดูแลผู้บริโภคจากการลงทุนมีความเสี่ยงสูง

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยแนวโน้มรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ในไตรมาแรก รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว 8.2% ลดลงจาก 10.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักๆ เป็นการลดลงของรายได้จากค่านายหน้า เนื่องจาก ธปท.มีกฎเกณฑ์ชัดเจนไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ขายพ่วงประกัน ทำให้รายได้ค่านานหน้าจากการขายประกันชะลอตัวลง เหลือ 21.2% จากการขยายตัว 49% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินขยายตัว 8.8% จาก 9.3% ในไตรมาสก่อน

การแข่งขันลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของดิจิทัลแบงก์กิ้งนั้น จะยังไม่เห็นผลในไตรมาสนี้ แต่จะเริ่มเห็นชัดเจนในไตรมาสที่ 2 โดยจะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากพิจารณารายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสนี้ ที่โดยรวมอยู่ที่ 200,00 ล้านบาทแล้ว รายได้ในส่วนของการโอนเงินจะอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่า ในไตรมาส 2 รายได้ส่วนนี้จะลดลงทั้งหมด แต่จะลดลงอย่างเห็นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ในช่วงต่อไปธนาคารพาณิชย์จะต้องเผชิญความท้าทายในการหารายได้ โดยจะต้องหาข้อมูลเฉพาะส่วนบุคคลของลูกค้าที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาสมกับลูกค้า รวมทั้งประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น นอกจากนั้น จะต้องลดต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การลดสาขาลงในช่วงก่อนหน้า ยังไม่ส่งผลให้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลงตามด้วย แต่ทั้งนี้ ภาพรวมไม่ได้หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์จะหารายได้ได้ลดลง เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2561 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวต่อเนื่องจากสิ้นปี สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสแรกนของปีนี้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากการขยายตัว 4.4% ในไตรมาสก่อน ขณะที่หากรวม หากรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.7 % มาอยู่ที่ 5.1%

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ขนาดกลางและใหญ่ ที่ได้รับสินเชื่อกระจายตัวมากขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขยายตัวที่ 7.4 % ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.1% โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งขึ้นมาขยายตัว 2 หลักที่ 10.6% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี

“เท่าที่มองภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อในระยะต่อไปในปีนี้ขยายตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยจากการหารือกับธนาคารพาณิชย์ในช่วงต้นปี ประเมินว่าการขยายตัวของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5-6% ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ ธปท. มีความพอใจ เพราะในสภาวะที่มีการระดมทุนในลักษณะอื่น เช่น การระดมทุนในตลาดทุนทำได้ง่ายขึ้น เราคงไม่เห็นการขยายตัวของสินเชื่อในอัตราสูงถึง 21 เท่าของการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกแล้ว”

นางสาวดารณี กล่าวต่อถึงด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวม ไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.92% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.91% โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 443,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากสิ้นปี 2560 ขณะ ที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.32% จากสิ้นปีที่ 2.55% โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 353,000 ล้านบาท

***แบงก์สำรองเพิ่ม 4-5 หมื่น ล. รับ IFRS9

ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึง ข้อเสนอการเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ว่า จากการหารือกับธนาคารพาณิชย์ ยอมรับว่าการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าวจะกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย ให้ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราสูงขึ้น และมีโอกาสได้รับสินเชื่อยากขึ้น เพราะมาตรฐานบัญชีให้คิดความเสี่ยงแบบไปข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ในหลักการแล้ว ธนาคารพาณิชย์ได้เข้มงวดในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อและคิดความเสี่ยงของเอสเอ็มอีในระดับที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้น ผลกระทบอาจจะมากน้อยแล้วแต่ธนาคารพาณิชย์ ว่าได้คำนวณความเสี่ยงไว้เข้มมากขนาดไหน โดย ธปท. ได้หารือประเด็นนี้ และได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ส่งการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาให้ ธปท. ภายใน 1-2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลื่อนการมาตรฐานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการบังคับใช้ โดยได้ประเมินในช่วงก่อนหน้าว่า หากมีการนำมาตรฐานใหม่มาใช้ตามเวลาเดิม ภายใต้พอร์ตสินเชื่อเดิมจะต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ ได้สำรองเพิ่มไว้เพียงพอแล้ว

*** ไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามแบงก์ทำธุรกรรมเงินดิจิทัล

นางสาวดารณี กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการออกประกาศพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคความเสี่ยงจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล โดย ธปท. มองว่า กฎระเบียบเดิมที่ไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี เพื่อเป็นการดูแลความเสี่ยงของการเข้าไปลงทุน ขณะนี้ความเสี่ยงหลายด้านยังอยู่ ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์สำหรับธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล 5 ข้อ คือ ห้ามการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในสกุลเงินดิจิทัล เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเอง หรือผลประโยชน์ของลูกค้า ห้ามให้บริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน ห้ามสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลระหว่างกัน ห้ามให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อสกุลเงินดิจิทัล และห้ามสนับสนุน หรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุน หรือการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล


กำลังโหลดความคิดเห็น