MGR Online - ป.ป.ท.ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน เฝ้าระวังการทุจริตโครงการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน 1,097 แห่ง มูลค่า 109.7 ล้านบาท
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 28 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก ถนนแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท.เป็นประธานการประชุมการดำเนินโครงการประสานพลังเฝ้าระวังการทุจริตกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันเตรียมวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนราชการในการตรวจสอบ เฝ้าระวังปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำฯ อันจะนำไปสู่ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง
ตลอดจนการบูรณาการการตรวจสอบเฝ้าระวัง การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินของทุกภาคส่วนราชการ ให้เป็นไปอย่างมีรูปธรรม โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองกำลังรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองบัญชาการกองทัพบก ส่วนกองกำลังความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) และกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. เข้าร่วมประชุม
พ.ท.กรทิพย์เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากอดีตที่ผ่านมาการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นสิ่งสำคัญของชาวบ้านแต่ได้เกิดการทุจริตอยู่หลายพื้นที่ เช่น ค่าแรง ค่าวัสดุ จำนวนมาก มีคดีค้างอยู่ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ถูกไล่ออก โดยการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจและวางกรอบระยะเวลาดำเนินการ ช่วยกันบริหารหรือกำหนดความเสี่ยงด้านทุจริตทุกมิติ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนจัดวาง การรับงาน และหาวิธีป้องกันปัญหา และประสานความร่วมมือตามธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส
พ.ท.กรทิพย์เผยอีกว่า สำหรับความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2561 เจ้าหน้าที่จะตรวจทุกฝายทั่วประเทศซึ่งมีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 45 จังหวัด 1,097 ฝาย งบประมาณรวม 109.7 ล้านบาท โดยจะดำเนินการตรวจสอบแบบต้นน้ำ คือ เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการก่อสร้าง โดยเฝ้าระวัง ตั้งข้อสังเกต การชี้แนะ เพื่อสกัดกั้นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน เพื่อลดขั้นตอน วิธีการ บุคลากร รวมถึงงบประมาณในการตรวจสอบภายการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ เนื่องจากได้มีการเฝ้าระวังและป้องกันมาตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้แล้วยังกำหนดให้มีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง วิธีการเข้าถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำในทุกขั้นตอน อันจะนำไปสู่การวางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว โดยมีหน่วยงานเฝ้าระวัง แต่หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการทั้งอาญา และวินัย
พ.ท.กรทิพย์เผยต่อว่า ที่ผ่านมาโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จะทำค่อนข้างยากเพราะพื้นที่อยู่ไกล ในป่าเขาและเข้าไปตรวจสอบไม่ทั่วถึง พบว่าฝายหายไปจำนวนมาก โดยจะมีการแก้ไขใหม่และร่วมกันบูรณาการทำงานซึ่งล่าสุดยังไม่พบปัญหาในปีนี้
ด้าน น.ส.พรรณพิศ บ่วงนาวา ผอ.กองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า สำหรับราคากลางในการสร้างฝายชะลอน้ำ ประมาณแห่งละ 100,000 บาท วัสดุก่อสร้างเป็นทรายผสมซีเมนต์ ดำเนินการมาเรื่อยๆ แล้ว 40 จังหวัด โดยสร้างบริเวณลำน้ำกว้างไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งจะมีการตรวจสอบภายในและประชุมรายงานผลต่อเนื่อง