xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ผนึกกำลัง 4 องค์กรหลักประกาศเจตจำนงต้านทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนรนิติ เศรษฐบุตร(ซ้าย)และ นายศุภชัย สมเจริญ
กกต.ผนึก 4 องค์กร ประกาศเจตจำนงทางการเมืองต่อต้านการทุจริตตามรัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ “นรนิติ” ชี้บ้านเมืองเกิดปัญหา เหตุพรรคการเมืองอ่อนแอ เชื่อเลือกตั้งมีแน่แต่ไม่รู้เมื่อไหร่

วันนี้ (18 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรอิสระและรัฐสภา ในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองการต่อต้านการทุจริต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เป็นตัวแทนสำนักงาน กกต. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นตัวแทน ป.ป.ช. นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นตัวแทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ประกาศเจตจำนงตอนหนึ่งว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดังกล่าวก็เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ป้องกันการทุจริตของนักการเมือง พรรคการเมือง และส่งเสริมให้พรรคการเมืองและนักการเมืองแสดงออกซึ่งเจตจำนงต่อต้านการทุจริต เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมติดตามการดำเนินการตามเจตจำนงที่ให้ไว้

ด้านนายวรวิทย์ระบุว่า การทุจริตนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้การทุจริตให้สัมฤทธิผล ที่ผ่านมามีการปรับปรุงการแก้ปัญหามาโดยตลอด รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์สร้างสังคมไม่ทนทุจริต ยกระดับเจตจำนงทางการเมือง สกัดกั้นทุจริตนโยบายเชิงรุก พัฒนากลไกปราบทุจริต ระดับดัชนีไทย ทั้งนี้ การยกระดับเจตจำนงทางการเมืองเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้การเมืองโปร่งใส สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ท่ต้องรณรงค์ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ประกาศเจตจำนงก่อนเลือกตั้งหรือก่อนรับตำแหน่ง และจะมีมาตรการติดตามตรวจสอบทางจริยธรรมต่อไป

ขณะที่นายคุณวุฒิกล่าวว่า สำนักงานได้เล็งเห็นถึงการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติในการต่อต้านการทุจริต สำนักงานได้วางแนวทางขับเคลื่อนโดยจะส่งเสริมให้พรรคการเมืองและนักการเมืองแสดงเจตจำนงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การแสดงเจตจำนงผ่านสื่อทุกรูปแบบ และภายหลังจากการเลือกตั้ง สำนักงานจะเร่งรัดกำกับติดตามตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม โดยจะเร่งรัดให้นักการเมืองทุกคนแสดงเจตจำนง รวมทั้งส่งเสริมให้มีกลไกกำกับติดตามโดยประชาชนมีส่วนร่วม

น.ส.นภาภรณ์ ประกาศเจตจำนงว่า การลงนามครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการป้องกันการทุจริต และไม่สนับสนุนการทุจริต และให้ความรู้ประชาชนเห็นผลเสียของการทุจริต และยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองก็เน้นให้หน่วยงานรัฐผลักดันให้เกิดการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนักงานยินดีสนับสนุนเรื่องนี้ โดยวางกรอบการดำเนินการ ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ทั้งภาคการเมือง ภาคข้าราชการ และภาคประชาชน ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งนี้แนวคิดของการปฏิรูปประเทศจะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น การสื่อสารเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง สำนักงานเชื่อว่าการลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นมิติที่สำคัญที่สุดของชาติและทำให้การทุจริตลดน้อยลง

จากนั้นนายนรนิติ เศรษฐบุตร สนช. และประธานกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อการปฎิรูประเทศตามรัฐธรรมนูญ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปฎิรูประเทศด้านการเมืองไทย” ว่าพระเอกในการปฏิรูปการเมืองไทยนั้นสิ่งแรกคือรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นตัวกำหนดความชอบธรรมของอำนาจ ต่อมาคือพรรคการเมือง ที่เป็นองค์กรเดียวที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายที่ให้แสวงหาอำนาจได้ในยามปกติ และกระบวนการเลือกตั้ง เป็นที่มาของการทำให้เกิดความชอบธรรมของอำนาจ

กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยมี 3 ตัวเอก คือ 1. รัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัวกำหนดความชอบธรรมในอำนาจ 2. พรรคการเมือง ที่เป็นองค์กรเดียวที่สามารถแสวงหาความชอบธรรมแห่งอำนาจได้ และ 3. กระบวนการเลือกตั้ง ที่เป็นกระบวนการที่ให้มาซึ่งความชอบธรรมแห่งอำนาจ แต่ตนมองว่าที่สำคัญมากตอนนี้คือพรรคการเมือง โดยคณะราษฎรถือเป็นพรรคการเมืองแรกของประเทศไทย แต่แค่ไม่ได้ใช้คำว่าพรรคการเมืองเท่านั้น ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทั้งนี้ พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรยึดหลักการเรื่องการมีส่วนร่วมและการรับผิดชอบ โดยกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองคือกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายจะมาบังคับพรรคการเมือง ไม่เคยทำได้ แต่ต้องเกิดจากความเสียสละของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค โดยจะต้องให้เป็นพรรคของมวลชนไม่ใช่พรรคของผู้นำพรรคเท่านั้น ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองเข้มแข็งก็จะไม่มีอะไรมาทำได้ แต่ที่มีปัญหาอย่างทุกวันนี้เพราะพรรคการเมืองอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการทำไพรมารีโหวต มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ดังนั้นการเลือกตั้งจะมีแน่นอนในไม่ช้า แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่





กำลังโหลดความคิดเห็น