xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” หวังพรรคเก่า-ใหม่ ปฏิรูปขับเคลื่อนไพรมารี ชี้ ต้องทำเพื่อยกระดับการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
“เสี่ยจ้อน” หวังพรรคการเมืองเก่า - ใหม่ ยึดแนวทางปฏิรูปเร่งขับเคลื่อนไพรมารี ชี้ แม้ยากแต่ต้องทำเพื่อยกระดับเป็นสถาบันทางการเมือง มั่นใจไม่สร้างความขัดแย้งในพรรค

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แสดงความเห็นกรณีหลายพรรคการเมืองกังวลเรื่องการเลือกตั้งขึ้นต้น (ระบบไพรมารี) ว่า จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่อยู่ในพรรคการเมือง และผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง เห็นว่า การเลือกตั้งขั้นต้นที่เรียกว่าไพรมารี เป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปพรรคการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยโดยการเพิ่มสิทธิหน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิกพรรคให้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. เพื่อให้สมาชิกพรรคมีความเป็นเจ้าของพรรค และ ส.ส. ของพรรคมากขึ้น เมื่อนั้นพรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้พรรคการเมืองพ้นจากการถูกครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์และนักการเมืองกังฉินที่ใช้พรรคการเมืองแสวงหาประโยชน์ทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณแผ่นดิน และโครงการของรัฐดังที่เกิดขึ้นในอดีต

“หากต้องการปฏิรูปการเมืองให้บังเกิดผลต้องเริ่มจากระบบไพรมารี ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่จะช่วยกันขับเคลื่อนระบบไพรมารีในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะยากและตัองสละอำนาจของผู้บริหารพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์ให้กับสมาชิกพรรคก็ต้องทำ เพื่อยกระดับพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองและพัฒนาประชาธิปไตยแบบผู้แทน ที่ใช้มา 80 กว่าปี เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และ กกต. เองก็ยืนยันว่า สามารถปฏิบัติได้จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเลื่อนระบบไพรมารีออกไปไม่เช่นนั้นการปฏิรูปการเมืองก็ไม่สามารถนับหนึ่งได้และหากติดขัดเรื่องเวลาหรือแนวปฏิบัติใดๆ ก็ควรหารือร่วมกันระหว่างพรรคการเมือง และ กกต.”

ส่วนประเด็นที่อ้างว่าการเลือกตั้งขั้นต้นจะทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ก็ใช้ระบบการเลือกตั้งเหมือนกัน หรือประเด็นที่กังวลว่าผู้สมัคร ส.ส. จะไปรวมสมาชิกเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสนับสนุนตนเป็นผู้สมัคร ส.ส. นั้น ตนเห็นว่า เป็นการดีกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จะมุ่งหน้าหาสมาชิกมากกว่ามุ่งหน้าหาผู้ใหญ่ในพรรคหรือกลุ่มทุน อีกประเด็นคือปัญหาเรื่ององค์ประชุมของการเลือกตั้งขั้นต้นที่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ในเขตเลือกตั้งที่มีสาขาพรรคหรือจะมีสมาชิกไม่ถึง 50 คน ในจังหวัดที่ไม่มีสาขาในเขตเลือกตั้งแล้ว จะดำเนินการไพรมารีไม่ได้ซึ่งหากพรรคการเมืองหาสมาชิกแค่ 50 คน ใน 1 จังหวัด หรือ 100 คน ในเขตเลือกตั้งที่มีสาขาพรรค ก็อย่าตั้งเป็นพรรคการเมืองให้เสียเวลา เพราะถ้าคิดจะส่ง ส.ส. เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งต้องมีคะแนนหลายหมื่นคะแนน แค่ 50 คน 100 คน ยังบอกทำไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น