ประธาน กรธ.เผยรัฐบาลเรียก กรธ.-กกต.หารือประเด็นกฎหมาย ขั้นตอนการเลือกตั้งที่ทำเนียบฯ เย็นพรุ่งนี้ ดักคอพรรคการเมืองสามารถทำไพรมารีโหวตได้ไม่ต้องรอ กกต.แบ่งเขต
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนภายหลังจากที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปยังรัฐบาลแล้วว่า ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอนโรดแมปที่นายกฯ ได้พูดเอาไว้ ดังนั้น กระบวนการก็เดินหน้าไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุสุดวิสัย โดยในขณะนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกทาง กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือต่อประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนการเลือกตั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ (13 มิถุนายน) โดยประเด็นที่จะหารือนั้นตนทราบเพียงเบื้องต้นแต่ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งวาระการประชุม ส่วน กรธ.จะส่งใครไปร่วมประชุมนั้น ตนขอหารือกับ กรธ.ก่อน
นายมีชัยยังกล่าวถึงขั้นตอนของการกำหนดวันเลือกตั้งว่า ต้องให้ กกต.ชี้แจงเพราะถือเป็นผู้ชำนาญการที่จะมีรายละเอียดและไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาทิ การแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงขั้นตอนที่พรรคการเมืองต้องจัดตั้งสาขาและกำหนดให้ทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.เคยชี้แจงเกี่ยวกับเวลาทำงาน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วันนับจากวันที่กฎหมายว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ จะมีผลกระทบต่อการเตรียมเลือกตั้งของพรรคหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กกต. สามารถร่นระยะเวลาดังกล่าวได้ และใช้ช่วงที่รอการบังคับใช้ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 90 วัน เตรียมความพร้อมไว้ได้ ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งเบื้องต้น ตนเข้าใจว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งรอบใหม่จะไม่ทำให้เขตเลือกตั้งที่เคยบังคับใช้เปลี่ยนแปลงมากนัก และหากสอบถาม กกต.เชิงลึกเขาอาจบอกข้อมูลและการเตรียมงานได้ และอาจใช้เวลาไม่มาก
ถามต่อว่ากรณีของพรรคการเมืองที่ต้องการให้ คสช.เร่งปลดล็อกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมืองเพื่อจะได้หาสมาชิกและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไพรมารีโหวตให้แก่ประชาชนและผู้ที่จะลงเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า ประเด็นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ พรรคการเมืองสามารถทำได้ ผ่านการส่งเอกสารและใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสารไปยังประชาชนได้
“ที่คนเขาออกมาว่าต้องเร่งเลือกตั้งให้เร็วๆ ผมไม่ทราบว่าเขาคิดถึงคนที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนและการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ แม้บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมาย ส.ส.ที่กำหนดให้ทำไพรมารีโหวต แต่เขาผ่อนปรนให้ไพรมารีโหวตคราวแรกสามารถทำได้ทีเดียวในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องทำเป็นรายเขตก็ได้ ดังนั้นอาจไม่ต้องรอให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จก็ได้” นายมีชัยกล่าว