... รายงาน
สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” แทน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง
รวมทั้ง ตรวจสอบการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ละครั้ง
เหตุที่ต้องเปลี่ยนจาก กกต.จังหวัด เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมา กกต.จังหวัด มีข้อครหาว่าเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง จึงได้เปลี่ยนโดยให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ทำงานเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
หากพบว่ามีเหตุที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ยุติธรรม ต้องรายงานให้คณะกรรมการ กกต. ทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่เลือกตั้งปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือน
กระบวนการรับสมัครผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น สำนักงาน กกต. จังหวัด จะคัดเลือกบุคคลที่มีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัด ไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน เพื่อแต่งตั้งเป็น “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง”
หากจังหวัดไหนมีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5 คน, 6 - 8 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 6 คน, 9 - 11 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 7 คน และ 12 เขตเลือกตั้งขึ้นไป มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 8 คน
โดยจัดทำบัญชีรายชื่อ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” เอาไว้ มีอายุไม่เกิน 5 ปี
ในตอนนั้น สถานะของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ยังเป็นแค่มีชื่อในบัญชี ยังไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้นจะยังไม่ได้รับเงินเดือน หรือสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น
แต่เมื่อถึงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทาง กกต. จะทำการจับสลาก เพื่อหา “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ละครั้ง
โดยจะจับสลากบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกับที่สมัครก่อน 2 คน ตามตัวอักษรของชื่อจังหวัด จนครบ 77 จังหวัด 154 คน
ส่วนที่เหลือ จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดอื่น โดยใช้วิธีเอารายชื่อคนที่ไม่ได้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดเดียวกัน มาเทรวมกัน แล้วจับสลากเรียงตามตัวอักษรของชื่อจังหวัดจนครบ
เพราะฉะนั้น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องมาลุ้นการจับสลากว่าตัวเองจะได้ไปอยู่ในจังหวัดไหน
ผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะปฏิบัติหน้าที่หลังจากมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งผ่านไปไม่ช้ากว่า 10 วัน หรือก่อน พ.ร.ฎ. เลือกตั้งไม่เร็วกว่า 30 วัน สิ้นสุดลง หลังวันประกาศผลการเลือกตั้งจำนวน ส.ส. ร้อยละ 95 หรือ ส.ว.
ซึ่งโดยปกติ กรอบการเลือกตั้งจะอยู่ที่ 150 วัน เพราะฉะนั้นเท่ากับปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนประมาณ 5 เดือน เว้นแต่การเลือกตั้งไม่เสร็จสิ้น จะขยายเวลาการทำหน้าที่ไม่เกิน 60 วัน หรือ 2 เดือน
สำหรับผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากเดือนไหนได้ปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับค่าตอบแทน 50,000 บาทต่อเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาทต่อวัน ค่าที่พัก 1,500 บาทต่อวัน ค่าพาหนะ 1,000 บาทต่อวัน
ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส จะได้ค่าเสี่ยงภัยเพิ่ม ตั้งแต่ 3,750 บาท ถึง 5,000 บาทต่อเดือน
คุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุระหว่าง 45-70 ปี ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันสมัคร
ต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ที่สำคัญ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปี ก่อนการแต่งตั้ง มีความเป็นกลางทางการเมือง มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย, มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กกต. จะเปิดรับสมัคร “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ระหว่างวันที่ 13 - 22 มิ.ย. 2561 ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
จากนั้น จะดำเนินการคัดเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติและพฤติการณ์ของผู้สมัคร พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 16 คน แล้ว กกต. กลางจะคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 8 คน
คาดว่า กกต. จะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในเดือนกันยายน 2561 เพื่อที่จะรองรับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตามโรดแมปต่อไป