ประธาน กกต.ชี้ปัญหาพรรคการเมืองแม้ปลดล็อกก็ยังประชุมไม่ได้ เหตุไม่มีสาขาพรรค รอ คสช.แก้คำสั่งที่ 53/60 พร้อมถก คสช.ปลาย มิ.ย.หากได้รับเทียบเชิญ เผยสั่ง กกต.จังหวัดเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว พร้อมเร่งยกร่างคำร้อง “ดอน” ขาดคุณสมบัติส่งศาล รธน.
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า พรรคการเมืองก็มีหน้าที่จัดหาสมาชิก ทุนประเดิม และทำสาขาพรรค แต่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกคำสั่งที่ 57/2557 และคำสั่งที่ 3/2558 ซึ่ง กกต.ไม่สามารถก้าวล่วงได้ว่าจะมีการปลดล็อกเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายพรรคการเมืองก็ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไปที่ คสช.แล้ว เช่น กรณีที่ไม่มีสาขาพรรคทำให้ไม่สามารถจัดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ แต่จะแก้ไขหรือไม่เป็นดุลพินิจของ คสช. นอกจากนี้ กรณีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.สนับสนุนให้ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องการมีเวลาในการเตรียมเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งยังไม่เคยมีการเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณา และ กกต.ก็ยังไม่มีความคิดที่จะเสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงาน กกต.ได้สั่งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศเตรียมการแบ่งเขตไว้แล้ว แต่ต้องดูจำนวนประชากรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องเตรียมการไว้ก่อน หากทำในระยะกระชั้นชิดก็อาจไม่ทัน
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมระบุว่าอาจจะมีการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องและพรรคการเมืองเกี่ยวกับการปลดล็อกและการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนนี้นั้น นายศุภชัยกล่าวว่า หาก คสช.แจ้งมา กกต.ก็พร้อมในฐานะผู้ปฏิบัติ โดยพยายามที่จะหาแนวปฏิบัติให้ทุกพรรคเท่าเทียมกัน
นายศุภชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เนื่องจากถือหุ้นเกินร้อยละ 5 และไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายในเวลาที่กำหนดว่า อยู่ระหว่างยกร่างคำร้อง เมื่อแล้วเสร็จก็ต้องนำกลับเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง ก่อนที่ กกต.จะลงนามโดยจะพยายามส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเร็วที่สุด