ประธาน กรธ.ระบุต้องใช้ไพรมารีตาม กม.ลูกกำหนด ชี้แค่สมาชิกร้อยคนก็ทำได้ คาดรอฟังผลศาล รธน.ชี้ขาดคำสั่ง 53/62 ก่อนหารือพรรคการเมือง พร้อมชี้ 3 แนวทางศาล รธน.วินิจฉัย กม.ลูก 2 ฉบับ เดือน มิ.ย.นี้
วันนี้ (15 พ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่องดเว้นการใช้การเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) ในการเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเอื้อให้แก่พรรคการเมืองของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรค ประชาชนต้องมีส่วนร่วม กรธ.ก็ร่างกฎหมายลูกให้มีส่วนร่วมระดับหนึ่ง พอถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เพิ่มอีกระดับหนึ่ง มีไพรมารีโหวตด้วย คงต้องรอดูที่นายกรัฐมนตรีจะให้พรรคการเมืองร่วมหารือด้วยในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ตามกำหนดการเดิมที่คาดว่ากฎหมายลูกจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ตอนนี้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การหารือจะช้ากว่านี้หรือไม่ ต้องถามนายกรัฐมนตรี
นายมีชัยกล่าวต่อว่า เมื่อเขียนไพรมารีโหวตแบบนี้ก็ต้องใช้ ไม่ได้เข้มข้นต้องลงคะแนนเอิกเกริกแบบอเมริกา เพียงแค่เรียกสมาชิกมา 100 คนก็ทำได้ แต่ไม่ใช่สามารถทำได้ทีเดียวพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เพราะพรรคต้องมีคนมาดูด้วย ต้องใช้เวลา การกำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องดูเรื่องนี้ด้วย ณ ขณะนี้งดเว้นไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ 1. ไม่ขัด จะไม่เป็นปัญหาใด 2. ขัด แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ยังสามารถใช้ได้ และ 3. ขัดโดยเป็นสาระสำคัญ ร่างกฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับและร่างใหม่
“ผมพูดบนความสมมติว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะเป็นหน้าที่ กรธ.ต้องแก้ไข เพราะยังอยู่ในกระบวนการ แม้รัฐธรรมนูญจะบอกว่าให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ แต่ความจริงไม่ใช่การยกร่างใหม่ทั้งหมด เพียงแค่แก้ไขส่วนที่ขัด แต่ผมตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลากี่วัน เพราะต้องรอดูเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะว่าอย่างไรก็อย่างนั้น แต่เมื่อถึงตอนนั้นแม้ผมจะแก่แต่ผมสามารถทำงานแบบข้ามคืนได้” นายมีชัยกล่าว