ประธาน กรธ.ย้ำเขตเลือกตั้งต้องเกี่ยวโยงกับร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส. และดูความพร้อมพรรคการเมือง-กกต.ก่อน ยัน กม.ลูกไม่เกิน 8 เดือน ส่วนกระบวนการสรรหา กสม.ยึดหลักการสากล หวังให้มีความน่าเชื่อถือในเวทีโลกมากขึ้น
วันนี้ (20 มิ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงกรณีที่จะเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงเกี่ยวกับระบบคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง หรือไพรมารีโหวต ในวันพรุ่งนี้ (21) ว่าทราบว่าผู้ที่จะชี้แจงคือกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในสัดส่วนของ กกต.ที่เคยชี้แจงต่อที่ประชุมกรรมาธิการว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ ซึ่ง กรธ.จะสอบถามว่าสามารถทำงานได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะหากประกาศใช้กฎหมายแล้วทำไม่ได้จริงก็จะเป็นปัญหา ท้ายสุดก็ต้องให้ทาง กกต.ยืนยันในฐานะฝ่ายปฏิบัติ ส่วนการกำหนดเขตเลือกตั้งซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระบวนการไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในทางปฏิบัติที่ผ่านมามีการวางกฎเกณฑ์ไว้ คือ เมื่อประกาศวันเลือกตั้งแล้วจึงกำหนดเขตเลือกตั้ง โดยก่อนกำหนดเขตเลือกตั้งก็ให้มีการปรึกษาหารือกับพรรคการเมือง เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กรธ.ก็คงจะถามฝ่ายพรรคการเมืองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่นการประกาศเขตเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ประมาณ 1 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมเรื่องไพรมารีโหวตได้ทัน ไม่ได้ขัดข้องในหลักการไพรมารี่โหวต
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า แม้การกำหนดเขตเลือกตั้งจะสัมพันธ์กับร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเร่งจัดทำและพิจารณาร่างกฎหมายลูกเพื่อเร่งให้มีการประกาศเขตเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะหากประกาศใช้กฎหมายในเวลาใดเท่ากับว่าจะต้องนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดทันที และอาจทำให้พรรคการเมืองไม่มีเวลาเตรียมตัว จึงต้องดูที่การเตรียมความพร้อมของ พรรคการเมืองและ กกต.ก่อน แต่ยืนยันว่าการจัดทำกฎหมายลูก กรธ.จะใช้เวลาไม่เกิน 8 เดือน ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมืองได้นั้น เป็นเรื่องของ คสช.ที่ต้องยกเลิกเอง เพราะทาง กรธ.ไม่รู้ถึงเหตุผลของคำสั่ง เพราะเป็นเรื่องของ คสช.
ส่วนกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ที่ 54 องค์กรภาคประชาสังคมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธาน สนช. และประธาน กรธ.สนับสนุนหลักการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด หลังประกาศใช้กฎหมายนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ทาง กรธ.ไม่ได้เขียนวิธีการสรรหา กสม.ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายลูก โดยบัญญัติกระบวนการสรรหาให้เป็นไปตามหลักการปารีสที่สากลยึดถือ จึงเป็นเหตุที่ กรธ.เห็นว่า กสม.ควรพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด เพราะที่ผ่านมากระบวนการสรรหาไม่หลากหลาย ระยะเวลาไม่เพียงพอ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งปรับวิธีการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ระบบการทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการ ต่างจากแต่ก่อนที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งเมื่อกฎหมายลูกบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว การยอมรับเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนน่าจะมีมากขึ้นในระดับสากล