ประธาน กก.พิจารณาร่างกฎหมาย ตร.จี้ คกก.ปฏิรูป 11 ด้านลงมือทำงาน เร่งรัดตามกรอบเวลา เผยข้อมูลจากดอดตรวจโรงพัก มีแบ่งเกรดเอ-ดี ขณะที่โรงพักเกรดเอไม่เห็นด้วยต่อแนวทางปฏิรูป เตรียมลุยข้อมูลกับโรงพักเกรดดี ก่อนนำข้อมูลมาถกร่าง กม.ตำรวจ ระบุต้องขีดกรอบ-เวลาการปฏิรูปให้ชัดเจนจึงจะสำเร็จ
วันนี้ (15 พ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจหลายแห่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตนต้องการไปสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้ข้อมูลและรับทราบข้อเท็จจริงในหลายประเด็นที่สามารถนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายบางมาตราให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่เรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ดังกล่าวตนไปด้วยตัวเองอย่างเงียบๆ แต่มีคนนำภาพถ่ายของตนที่หน้าสถานีตำรวจหนึ่งไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ถูกทราบเรื่อง โดยจากนี้ตนอาจจะลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็นและปัญหา ก่อนนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมทำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
“ตอนที่ผมไป ไม่มีใครรู้จักผม ผมเข้าไปแบบธรรมดาเพื่อขอพบผู้กำกับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีทำหน้างงว่าผมต้องการอะไร จนผมแนะนำตัวว่าผมคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขาถึงจำได้และเชิญนั่งพูดคุยและให้ข้อมูลหลายอย่างที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ว่าแต่ละ สน.จะมีแบ่งเกรดเป็นระดับเอ บี ซี เหมือนกระทรวง และรู้ด้วยว่าการทำคดีบางอย่าง เช่น เจอคนถูกฆาตกรรมแล้วต้องส่งศพไปตรวจพิสูจน์ เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องออกเงินเอง และไม่สามารถเบิกจ่ายย้อนหลังได้ เมื่อได้ข้อมูล ผมนำไปถามอีก สน.หนึ่งว่าหาเงินมาจากไหน เขาก็บอกผม แต่ผมบอกต่อไม่ได้ เนื่องจากสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยชื่อหรือข้อมูลคนที่พูดคุยกับผม และเมื่อเอาแผนปฏิรูปไปคุยก็พบว่า โรงพักเกรดเอไม่เห็นด้วย ดังนั้นผมจึงว่าจะลองคุยกับโรงพักเกรดดีดูบ้าง” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยยังกล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ระบุว่าการปฏิรูปไร้จุดจบ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดในบทหลักว่ามีเวลา แต่มีขั้นต้น การปฏิรูปจริงไม่มีวันเสร็จ เมื่อทำส่วนหนึ่งแล้วก็จะกระทบอีกส่วนหนึ่งต้องปฏิรูปต่อ หรือปฏิรูปไปแล้วไม่ออกผลก็ต้องทำใหม่ ซึ่งตามแผนปฏิรูปกำหนดเวลาไว้ 5 ปี ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำไว้ ส่วนในรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบไว้กว้างๆ แต่ครอบคลุมทุกส่วน เช่น ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ก็กระทบทุกระทรวง มันจึงยากที่จะทำจาก 1 ถึง 100 จึงต้องทำหลักๆ ก่อน และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่ปีบ้าง
ส่วนที่ระบุว่าการปฏิรูปโดยให้ผู้ถูกปฏิรูปทำจะมีปัญหานั้น นายมีชัยยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้นกฎหมายและแผนการปฏิรูปจึงเจาะจงมากกว่าปกติ ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่ปีบ้างแล้วก็เริ่มทำกันเลย ไม่ใช่พูดกันแต่เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ที่พูดกันมาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครบอกว่าจะทำอย่างไร และแนวทางที่แก้ไขได้ คือให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ต้องลงมือปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ขณะที่หน่วยงานต้องรับไปดำเนินการและปฏิบัติตามแผนและกรอบการทำงาน