xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนทรงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้าทรงตัว เชื่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวชัดเจน จากตัวเลขไตรมาสที่ 1 GDP มีการขยายตัว 4.8% และตัวเลขการลงทุนภาครัฐกลับมาเพิ่มขึ้น 4.4% ขณะนักลงทุนกังวลสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนของการเลือกตั้ง และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ในภาวะทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สอง โดยผลสำรวจระบุว่า นักลงทุนเชื่อมั่นว่า การลงทุนจะได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐ ขณะนักลงทุนกังวลสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนของการเลือกตั้ง และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด”

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2561) ลดลงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80-120) โดยลดลง 1.07% อยู่ที่ระดับ 91.66

ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ และกลุ่มสถาบันภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเดือนก่อนจาก Zone ซบเซา (Bearish) มาอยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral)

ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG)
หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนพฤษภาคม เคลื่อนไหวปรับฐานในทิศทางลดลงอยู่ในกรอบระหว่าง 1724-1791 โดยดัชนีฯ ยังคงมีการปรับฐานจากการคาดการณ์นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย Bond Yield สหรัฐฯ ปรับขึ้นมาที่ 3% และแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม แม้ว่านักลงทุนผ่อนคลายความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่การเจรจามีความคืบหน้า โดยสหรัฐฯ เลื่อนการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่อจีนในช่วงนี้

ผลสำรวจชี้ว่า ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากตัวเลขไตรมาสที่ 1 GDP มีการขยายตัว 4.8% และตัวเลขการลงทุนภาครัฐกลับมาเพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง และความชัดเจนในการกำหนดวันการเลือกตั้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ทยอยตัวเพิ่มขึ้น ที่อาจส่งผลต่อการพิจารณานโยบายทางการเงินของ กนง.
 
สำหรับปัจจัยต่างประเทศจากนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ และนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปที่กำลังพิจารณาการปรับลดมาตรการ QE ในช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด โดยมีประเด็นติดตามความชัดเจนของผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า และนโยบายทางการเงินของสหรัฐต่อนโยบายทางการค้า และนโยบายทางการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา คือ การปรับตัวผันผวนของราคาน้ำมันหลังจากมีการเคลื่อนไหว 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และสถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศในยุโรป ที่อาจส่งผลต่อนโยบายทางการเงิน”

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิถุนายน 2561

“ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจของไทย”

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมิถุนายน 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนมิถุนายนนี้ อยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนสิงหาคม 2561 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 90 และ 92 ตามลำดับ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 78 และ 87 ตามล้าดับ) โดยดัชนีทั้งสองอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น และการคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น