ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดประชุมเฟดรอบนี้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เชื่อ กนง. ยังคงดอกเบี้ยเพื่อหนุนการฟื้นตัว ศก.ไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 1.50-1.75% เป็น 1.75-2.00% ในการประชุมรอบที่สี่ของปีนี้ช่วงวันที่ 12-13 มิถุนายน 2561 หลังพัฒนาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางของเงินเฟ้อที่ปรับเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดมากขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นกลางเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว และป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตามในการประชุมเฟดครั้งนี้ ได้แก่ การส่งสัญญาณถึงมุมมองอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะมุมมองดอกเบี้ยระยะยาวอันจะมีผลต่อเส้นทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกได้ หากเฟดมีการปรับมุมมองของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีมากขึ้น แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงขยายตัวได้ดีอันสะท้อนผ่านภาพการบริโภคของสหรัฐฯ ที่สดใส ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงมีพัฒนาการที่แข็งแกร่ง โดยจำนวนการว่างงานปรับลดเกือบ 8 แสนตำแหน่งนับจากต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 3.8% อันเป็นระดับต่ำสุดในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษ ขณะที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับเดือน เม.ย.61 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ 6.7 ล้านตำแหน่ง สูงกว่าจำนวนคนว่างงานของสหรัฐฯ ที่มี 6.4 ล้านคนเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ ด้วยภาพของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งยังคงสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องโดยไม่น่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด โดยอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นแตะระดับ 2% และมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยหนุนให้ระดับอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นยังคงมีอยู่หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นแรงส่งจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น รวมทั้งการส่งผ่านของราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐฯ อันอาจจะส่งผลให้ระดับอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดได้ โดยปัจจัยดังกล่าวคงเป็นอีกประเด็นที่ส่งผลให้เฟดน่าจะส่งสัญญาณถึงสาธารณชนที่จะดูแลให้เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายในระยะกลาง-ยาว อันเป็นการป้องกันไม่ให้สาธารณชนคาดการณ์ถึงอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณถึงมุมมองอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะมุมมองดอกเบี้ยระยะยาว ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้เฟดจะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอันใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่เฟดอาจจะส่งสัญญาณถึงโอกาสที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 4 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคงหนีไม่พ้นการส่งสัญญาณถึงระดับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเฟด อันจะมีผลต่อแนวทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าว่า เฟดจะมีการปรับขอบบนของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจากระดับ 3.0% หรือไม่ โดยหากเฟดมีการปรับขอบบนดังกล่าวขึ้น อาจจะเป็นการส่งสัญญาณถึงมุมมองการดำเนินนโยบายที่ตึงตัว อันอาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนรอบใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินนอกเหนือจากผลของการประชุมเฟด ที่ตลาดได้คาดการณ์ไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยหากผลการประชุมสามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ดี น่าจะสนับสนุนทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มีโอกาสปรับแข็งค่าในระยะต่อไป แต่หากผลการประชุมไม่ประสบผลสำเร็จอาจจะนำมาสู่ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันจะส่งผลต่อไปยังค่าเงินบาทต่อไป
สำหรับผลต่อประเทศไทย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้อาจส่งผลให้ประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนแอ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล อาจจะเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติมได้ ทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ จากอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูดมากขึ้น และส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นอาจจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดการไหลออกของเงินทุน ตลอดจนส่งผลให้ระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยทยอยปรับตัวสูงขึ้นตาม
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลันเหมือนกับประเทศดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ตลอดจนการไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดทุนไทย
ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของไทย แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมทั้งประเทศในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยบางส่วน แต่ด้วยปัจจัยสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังมีสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ยังคงสนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ยังสามารถที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% อีกระยะ เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ