“คลัง” โต้ข้อวิจารณ์กองทุนประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 4 หมื่นล้าน ตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 62 เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 ย้ำวัตถุประสงค์ตั้งกองทุนฯ เป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ที่ถูกกลุ่มเป้าหมาย แถมเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 11 ล้านคน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองว่า รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2559 และ 2560 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการ “ประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ตามที่กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 1. วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยให้วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
2. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน, 3. วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket ต่อรถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน, 4. วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน, และ 5. วงเงินค่าโดยสารรถไฟจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้นใช้แหล่งเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งผู้มีรายได้น้อยยังสมควรได้รับความช่วยเหลืออีกระยะหนึ่งจนกว่าจะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งงบประมาณจำนวน 40,000 ล้านบาท สำหรับกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคง และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยมาตรการข้างต้นเป็นการช่วยเหลืออย่างถูกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนประมาณ 11 ล้านคน อีกทั้งทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพอย่างแท้จริง และมิใช่การตั้งวงเงินไว้ใช้สำหรับให้พรรคการเมืองใช้เตรียมพร้อมต่อการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 แต่อย่างใด