xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไทย แคปปิตอล คุม NPL-ย้ำปล่อยสินเชื่อรายย่อยปราศจาก SME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย แคปปิตอล คุมต้นทุนได้ดีกด NPL ให้อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.29% พร้อมตั้งสำรองไว้มากถึง 260% เพื่อสร้างความมั่นคงและมั่นใจแก่ทุกฝ่าย ที่สำคัญพอร์ตสินเชื่อเน้นปล่อยรายย่อย โดยไม่มีลูกค้าประเภท SME เลย ตั้งเป้าครึ่งปีหลัง เติบโตไม่ต่ำกว่า 40% กำไรสุทธิทุบสถิติสูงสุดต่อเนื่อง ส่วนทั้งปีมั่นใจเดินหน้าตามแผน วางเป้ารายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาท และยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท เร่งขยายสาขาครบ 600 แห่งต่อปี

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ระบุว่าตามที่มีกระแสข่าวว่า บริษัทปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ และ SME นั้น ขอเรียนชี้แจงให้ทราบว่า บริษัทไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ SME แต่เน้นปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าส่วนบุคคลรายย่อย ซึ่งมีจำนวน 1.3 ล้านคน และปล่อยเฉลี่ยรายละ 20,000 บาท สำหรับวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่บริษัทปล่อยในปัจจุบัน เฉลี่ยไม่เกิน 400,000 บาท และมีจำนวนเล็กน้อยไม่เกิน 50 ราย ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานแต่อย่างใด

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระยะ 3 ปี ซึ่งจะเติบโตเฉลี่ย 35-40% โดยปีนี้มั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน ซึ่งจะมีรายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิจะทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจากปีก่อนที่ทำได้ 2,501 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ยังเติบโตได้ดี และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกินระดับ 1.50% ขณะที่มีการตั้งสำรองไว้กว่า 260%

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 536 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.59% โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.22% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,563 ล้านบาท เนื่องจากยอดสินเชื่อใหม่เติบโตมากขึ้น โดยมีสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 3.8 หมื่นล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ สามารถรักษาระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ในระดับ 1.29% ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นด้วย

“ภาพรวมการดำเนินธุรกิจไตรมาส 1/2561 เติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีการเติบโตระดับ 40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ หรือ NPL ให้อยู่ระดับไม่เกิน 1.5% รวมทั้งการเปิดสาขาใหม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เปิดสาขาเพิ่มแล้ว นับตั้งแต่ต้นปี สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 จำนวน 214 แห่ง จากเป้าหมายที่จะเปิดสาขา จำนวน 600 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จึงรวมเป็นจำนวนสาขาทั้งสิ้น 2,637 แห่ง” นายชูชาติ กล่าว

ณ สิ้นเดือนเมษายนเปิดสาขาไปแล้ว 2,736 สาขา เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลือของปีจะขยายจำนวนสาขาที่จะเปิดใหม่อีกจำนวน 300 สาขา รวมเป็นจำนวนสาขาสิ้นปี 2561 จำนวน 3,000 สาขา โดยมั่นใจว่ายอดปล่อยสินเชื่อต่อสาขาไม่ลดลง เมื่อผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้มั่นใจว่า ภาพรวมทั้งปีจะสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ น่าจะทำสถิติใหม่เช่นกัน ประเมินว่าจะทำได้เกิน 8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 40% จากปีก่อน

ขณะที่ปี 2562 และปี 2563 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยมากกว่า 35% ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายของภาคประชาชน ซึ่งสินเชื่อก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นธุรกิจของ MTC น่าจะยังเป็นขาขึ้นอย่างน้อยอีก 3 ปี

สำหรับแผนการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ ในไตรมาสแรก ได้ร่วมเดินทางไปกับ DBS Vickers Securities (Thailand) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้รับความสนใจ และการตอบรับจากนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก และในไตรมาส 2 นี้ มีแผนที่จะไปพบนักลงทุนต่างประเทศร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS) ที่ประเทศฮ่องกง และบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ที่ประเทศญี่ปุ่น และในไตรมาส 3 มีแผนที่จะไปพบนักลงทุนต่างประเทศร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนดอยซ์ ทิสโก้ จำกัด และ DBS Vickers Securities(Thailand) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และไตรมาส 4 มีแผนที่จะไปพบนักลงทุนต่างประเทศร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนดอยซ์ ทิสโก้ จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ การที่ภาครัฐออก พ.ร.บ. กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินฉบับใหม่นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดดอกเบี้ยไว้ที่ 15% ตามที่นักลงทุนมีความกังวล แต่ให้คิดดอกเบี้ย รวมค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ และเมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการดูแลให้การให้บริการทางการเงินมีคุณภาพมากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น