xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นพลังงานทดแทน กำไร Q1 โต Q3 ลุ้นแผนรับซื้อไฟฟ้าชี้ชะตาธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน พาเหรดโชว์ผลงานไตรมาส 1 กำไรเพิ่มกว่า 10 บริษัท จากมีโครงการ COD รับรู้เพิ่มเติม ขณะที่อีก 7 บริษัทกำไรลดลง บางรายถึงกับขาดทุน ส่วนมากจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาพรวมการชะลอรับซื้อไฟฟ้าภาครัฐยังเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญ ด้านกูรูแนะลงทุนรายตัวที่มีโครงการในมือจำนวนมาก และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมคาดเห็นความชัดเจนแผนรับซื้อไฟฟ้าใหม่ช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางของธุรกิจได้

ภาพรวมไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีกำไรสุทธิรวมกัน 2.84 แสนล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 1/60 ที่มีกำไรสุทธิ 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% และมากกว่า 4/2560 ที่มีกำไรสุทธิ 2.50 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มฯ (เฉพาะ Real sector) พบว่า กลุ่มพลังงาน เติบโต 7.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และ 24.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พบว่ามีกำไรเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 4/60 และเพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/61 ได้แก่ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ในไตรมาส 1/61 มีรายได้รวม 3,828.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,134.91 ล้านบาท หรือ 42.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,946.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 967.28 ล้านบาท หรือ 98.76% จาก 979.47 ล้านบาทในไตรมาส 1/60

ด้าน บมจ. เด็มโก้ จำกัด (DEMCO) ผลประกอบการไตรมาส 1/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 77.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 53 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,284.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.79% จากไตรมาส 1/60 ที่มีรายได้รวม 1,237.41 ล้านบาท

ถัดมา บมจ. เอสพีซีจี (SPCG) ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 780.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/60 ที่มีกำไรสุทธิ 756.80 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,572.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีรายได้ 1,301.70 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 81.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 63.92 ล้านบาท และมีรายได้รวม 342.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 45.30% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 235.83 ล้านบาท

ตามมาด้วย บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ผลประกอบการไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโครงการโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)

สำหรับ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผลดำเนินงานในไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 1,707.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 600.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,107.40 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 3,360.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.80 ล้านบาท

ถัดมา บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 421 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 8,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 7,651 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการโรงไฟฟ้า ABPR3 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)

ส่วน บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 172 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาส 1/60 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นของโรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ (IRPC-CP) ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ที่ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มทั้งสองระยะไปในเดือน พ.ย. 2560 ตามที่กำหนดไว้

ขณะที่ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ประกาศงบไตรมาส 1/61 กำไรสุทธิ 20,171 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 581% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตเพิ่มขึ้น 1,016% เทียบกับไตรมาส 4/60 เนื่องจากมีกำไรจากการขายสินทรัพย์รวม 14,162 ล้านบาท ได้แก่ สัดส่วนในโรงไฟฟ้า MPPCL จำนวน 9,795 ล้านบาท และสัดส่วน 18.72% ที่ถือใน EASTW 4,358 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าขยะ GDEC 9 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมพิเศษดังกล่าว และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 3,886 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 1,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 41.9% เทียบกับไตรมาส 4/2560

ด้าน บมจ. เพาเวอร์ โซลูชั่น (PSTC) ไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 24.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 12.29 ล้านบาท เช่นเดียวกับ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) มีผลดำเนินงานในไตรมาส 1/61 กำไรสุทธิ 2,614.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 716.10 ล้านบาท หรือ 37.70% จากไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 1,898.10 ล้านบาท และ บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 12.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 43.62 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) มีผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 เป็นกำไรสุทธิ 78.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มี 41.94 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 563.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 441.09 ล้านบาท

ส่วน บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 มีรายได้รวม 1,547.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 753.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 698.49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรผลิตไอน้ำ (Boiler) เพิ่มเติมภายในโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านการผลิต ส่งผลให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าในไตรมาส 1/61 เป็นสถิติสูงสุดอยู่ที่ 259 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 31%

ด้าน บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ในไตรมาส 1/61 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ (ธุรกิจน้ำ) 422.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% โดยมีกำไรสุทธิ 716.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 272.51 ล้านบาท

สำหรับบริษัทที่มีกำไรสุทธิลดลง และขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1/61 ได้แก่ บมจ. บีซีพีจี (BCPG) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 351.15 ล้านบาท ลดลง 22.7% จากระดับกำไรสุทธิ 453.99 ล้านบาทในไตรมาส 1/60 และลดลง 40.1% จากไตรมาสก่อน หลังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเยน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถัดมา คือ บมจ. ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 110.10 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/60 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 130.22 ล้านบาท

นอกจากนี้ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 ที่ระดับ 182.45 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรกปี 60 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 892.19 ล้านบาท ถัดมาคือ บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 ที่ระดับ 469.91 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,045.67 ล้านบาท เนื่องจากมีบันทึกค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ จากการร่วมรับผิดชอบคดีโรงไฟฟ้าหงสา 901 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ในไตรมาส 1/61 มีรายได้รวมเท่ากับ 1,409.96 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนทีมีรายได้ 1,406.96 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิ 494.29 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 563.03 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการชำระหนี้เจ้าหนี้การค้าต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

ส่วน บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/61 ขาดทุนสุทธิ 109.11 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 186.10 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนของค่าธรรมเนียมการยกเลิกสัญญาสิทธิซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ (เหรียญสหรัฐฯ) และ บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) ขาดทุนสุทธิไตรมาส 1/61 จำนวน 86.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/60 ขาดทุนสุทธิ 56.97 ล้านบาท

โดยรวมการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าทดแทน ส่วนเกิดจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงใหม่ๆ ที่เริ่ม COD เข้ามา ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่บริษัทที่มีกำไรสุทธิลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระค่าผลิตภัณฑ์ หรือรับรู้รายได้ด้วยสกุลเงินต่างประเทศที่เปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทแล้วลดลง

จากข้อมูลข้างต้น นักวิเคราะห์ประเมินว่า กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จะมีอัตราการเติบโตลดลงในช่วงนี้ หลังกระทรวงพลังงาน เปลี่ยนข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้แบ่งเงินบางส่วนลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน (Power Utilities) ซึ่งราคาปรับฐานลงค่อนข้างมาก เพราะราคาหุ้นยังมีความเสี่ยงขาลงที่จำกัด โดยเฉพาะหุ้น BGRIM, GULF ซึ่งมีโครงการที่ได้ PPA แล้วจำนวนมาก และมีสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศน้อย ทำให้ได้รับผลกระทบจากแผนปฏิรูปด้านพลังงานจำกัด รวมถึงหุ้น EA, GPSC ที่มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ระบบเก็บกักพลังงาน (ESS) และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ด้าน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน ว่าเลือกซื้อรายตัวที่กำไรดี และพร้อมไปต่างประเทศ เนื่องจากภาพรวมกำไรปกติในไตรมาส 1/61 ของกลุ่มโรงไฟฟ้า จะเห็นการเติบโต ทั้งช่วงเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากหลายโรงไฟฟ้าทยอย COD ตามแผนของบริษัทที่วางไว้ทำให้

นอกจากนี้ ประเมินว่าโอกาสได้โรงไฟฟ้าใหม่ภายในประเทศจำกัดมากขึ้น จนกว่าจะเห็นแผน PDP ใหม่ในไตรมาส 3/61 ทำให้มองว่า หุ้นที่มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ อย่าง GULF และ BGRIM จะมีความน่าสนใจเหนือหุ้นที่พึ่งพิงตลาดในประเทศเพียงตลาดเดียวอย่าง WHAUP และ TPIPP

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้หลังกระทรวงพลังงาน พิจารณาชะลอรับซื้อจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานไฟฟ้า นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 61 เป็นต้นมา ทำให้จำเป็นต้องรอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่กำลังจัดทำใหม่อยู่นั้น โดยคาดว่าจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ในเดือน มิ.ย. และแล้วเสร็จในไตรมาส 3/61 ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนต่อธุรกิจพลังงานทางเลือกในประเทศ ทำให้ระหว่างนี้ราคาหุ้นอย่าง WHAUP และ TPIPP ราคาหุ้นอาจฟื้นตัวได้จำกัด ขณะที่หุ้นที่มีศักยภาพได้โรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในต่างประเทศอย่าง GULF และ BGRIM จะมีความแข็งแกร่งเหนือกลุ่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น