บล. ฟินันเซีย ไซรัส หรือ FSS ชี้แนวโน้มการปรับลดฟรีเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาจส่งผลต่อความกังวลนักลงทุนเหตุกระทบต่อการจัดเก็บรายได้
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส หรือ FSS เปิดเผยมุมมองต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยเปิดให้บริการธุรกรรมทางการเงินฟรีผ่านระบบ Mobile Banking Application โดยฝ่ายวิเคราะห์เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK และธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB นำร่องเปิดให้บริการ “ฟรีรายได้ค่าธรรมเนียม” การโอนเงินและทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ซึ่งทำให้ตลาดกังวลต่อการปรับลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคาร
หากพิจารณาผู้ใช้ Mobile Banking ที่มีอยู่เฉลี่ยประมาณ 80% กระจุกตัวในธนาคารขนาดใหญ่ โดย KBANK มีส่วนแบ่งการตลาด (Market share) สูงสุดในกลุ่ม Mobile banking ประมาณ 7.3 ล้านราย หรือ 26% ของผู้ใช้ Mobile banking ทั้งหมด
ขณะที่ธนาคารมีรายได้จากการโอนเงินประมาณ 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมมีเพียง KBANK และธนาคารธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ที่เปิดเผยผลกระทบจาก National E-Payment (รวมถึง Internet banking, Mobile banking และ Prompt-Pay) ว่า อยู่ที่ประมาณ 6% และ 2% ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และประมาณ 7% และ 3% ของกำไรสุทธิตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวทำให้มองเห็นผลกระทบสูงสุดของกำไรสุทธิ คือ ประมาณ 7% สำหรับ KBANK และลดหลั่นลงสำหรับธนาคารอื่น ๆ เนื่องจากธนาคารอื่นมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนผ่าน Mobile banking ไม่มากนัก ซึ่งคาดว่าจะได้รับชดเชยระยะกลาง-ยาว จากค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดที่ลดลง ต้นทุนสาขาที่ลดลง รายได้ด้านอื่น ๆ จากการใช้ platform ที่เพิ่มขึ้น และโดยปกติรายได้จากการโอนเงินข้ามธนาคารที่รายการละ 25-35 บาท เข้าธนาคารเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไปที่ตัวกลางการโอนเงิน
ทั้งนี้ มุมมองการลงทุน หากพิจารณา KBANK ที่ราคาปรับตัวลงมากที่สุด และหากรวมผลกระทบจาก Free Mobile banking fee เราคาดว่า กำไรสุทธิลดลงราว 7% เป็น 3.78 หมื่นล้นบาท จากคาดการณ์เดิมที่ 4.08 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเห็นการเติบโตราว 10% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า และส่งผลกระทบต่อ 2018 BVS ประมาณ 1.23 บาท เป็น 157.68 บาท ROE ลดลงจาก 11.2% เป็น 10.5% ซึ่งต้องอิง Prospective PBV ใหม่ที่ 1.5 เท่า จะได้ราคาเหมาะสมที่ราว 235 บาท ซึ่งถือว่ายังมี Upside จากราคาปิดล่าสุดที่ 10% ดังนั้น ฟินันเซีย คงคำแนะนำซื้อ และยังไม่ปรับราคาเหมาะสมลงจากเดิมที่ 264 บาท โดยคาดว่าผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจะไม่รุนแรง สำหรับธนาคารอื่น คงประมาณการเช่นกัน ราคาที่ลงมายังถือเป็นโอกาสซื้อ TOP Pick KBANK, BBL
Mobile Banking ฐานลูกค้ากระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารขนาดใหญ่
จากการรวบรวมข้อมูล ณ ก.ย. 2017 ข้อมูลจาก ธปท. มีลูกค้าที่ใช้บริการผ่าน Mobile Banking จำนวน 28 ล้านราย โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารขนาดใหญ่ โดย KBANK มี Market share สูงที่สุดราว 7.3 ล้านราย (K-Plus) และ TCAP ต่ำสุดที่ 6 แสนราย (TISCO และ KKP มี Mobile banking แต่มียอดลูกค้าน้อยมาก)
โดยสรุป เราคาดว่า ผลกระทบสูงสุดของกำไรสุทธิ คือ 16-17% ในกรณีที่ไม่มีรายได้จากการโอนเลย (Worse case) และในกรณี Base case ที่ราว 5-8% เฉพาะค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับ Mobile Banking โดย KBANK น่าจะได้รับผลกระทบสูงสุดที่ราว 7% และลดหลั่นลงสำหรับธนาคารอื่น ๆ เนื่องจากมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนไม่มากนัก ซึ่งเราท้ายที่สุดคาดว่าจะได้รับชดเชยจาก
1. ต้นทุนการถือครองเงินสดที่ลดลง
2. ต้นทุนของการใช้สาขาธนาคาร และตู้ ATM ลดลง เนื่องจากความนิยมของ Mobile Banking เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ธนาคารที่มีลูกค้าจำนวนมากเกิด Economy of Scale
3. คาดว่าในอนาคต ธนาคารจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมด้านอื่นมาเพิ่มเติม เช่น การทำ Platform แบบ E-commerce และการขยายธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลต่าง ๆ ผ่าน Mobile banking
4. เราคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนผ่านธนาคารที่จะลดลงมาก จะชดเชยได้จากค่าใช้จ่ายที่ให้กับตัวกลางรับโอนที่ลดลงด้วย