xs
xsm
sm
md
lg

เจาะเกมส์ปล่อยฟรี Mobile Banking ระยะสั้นกดดันรายได้แต่หนุนระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการ 360 องศา - เจาะเกมส์ธนาคารปล่อยฟรีค่าธรรมเนียมระบบ Mobile Banking Application ชี้เพื่ออนาคต แม้รายได้บางส่วนหาย แต่ค่าใช้จ่ายก็ลดลงไป ภาพรวมกระทบกับผลประกอบการแบงก์ในระยะสั้น แต่จะส่งผลดีในระยะยาว จากฐานลูกค้าและข้อมูลพฤติกรรมการบริโภค

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวในแดนลบ นอกจากปัจจัยที่เข้ามากระทบจากต่างประเทศ สถานการณ์การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ที่หันมาเปิดให้บริการธุรกรรมทางการเงินฟรีผ่านระบบ Mobile Banking Application ได้สร้างแรงเทขายให้แก่หุ้นกลุ่มธนาคาร อย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่า การแข่งขันดังกล่าวจะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิจากการดำเนินงานด้วย

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า การปรับลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรไม่มากนักเมื่อเทียบกับรายได้รวม ขณะที่ค่าธรรมเนียมงานบริการอื่น ๆ และ ATM ก็ไม่มีการปรับลด ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารจะได้รับกลับมา คือ ฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า สามารถสร้างระบบดาต้าเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

“เราทำเพื่ออนาคต ถ้าไม่ทำก็จะล้าหลังทันที เพราะเมื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกเข้ามาสามารถรุกเข้ามาได้อย่างง่ายมาก ๆ ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้ ถือว่าคุ้มค่ามาก แม้จะทำให้เสียรายได้ไปบ้าง แต่เราจะได้ลูกค้ากลับมา เราจะรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงโจทย์”

“พัชร สมะลาภา” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวยอมรับว่า การออกแคมเปญดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ของธนาคารหายไปค่อนข้างมากพอสมควร และจะเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การที่ค่าฟีหายไปธนาคารก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษารายได้ไว้ จึงจำเป็นต้องลดงบทางการตลาดต่าง ๆ ลง

ธนาคารได้อะไรหลังยกเลิกค่าธรรมเนียม Mobile Banking Application

1. ต้นทุนการถือครองเงินสดที่ลดลง

2. ต้นทุนของการใช้สาขาธนาคาร และตู้ ATM ลดลง เนื่องจากความนิยมของ Mobile Banking เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ธนาคารที่มีลูกค้าจำนวนมากเกิด Economy of Scale

3. คาดว่าในอนาคต ธนาคารจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมด้านอื่นมาเพิ่มเติม เช่น การทำ Platform แบบ E-commerce และการขยายธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลต่าง ๆ ผ่าน Mobile banking

4. แม้รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนผ่านธนาคารจะลดลงมาก แต่จะได้ชดเชยจากค่าใช้จ่ายที่ให้กับตัวกลางรับโอนที่ลดลงด้วย

บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้มุมมองต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยเปิดให้บริการธุรกรรมทางการเงินฟรีดังกล่าวว่า สร้างความกังวลต่อการปรับลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารมาก โดยหากพิจารณาผู้ใช้ Mobile Banking ที่มีอยู่เฉลี่ยประมาณ 80% กระจุกตัวในธนาคารขนาดใหญ่ โดย KBANK มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในกลุ่ม Mobile banking ประมาณ 7.3 ล้านราย หรือ 26% ของผู้ใช้ Mobile banking ทั้งหมด และธนาคารมีรายได้จากการโอนเงินประมาณ 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียม

ปัจจุบันนี้มีเพียง KBANK และธนาคารธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เท่านั้น ที่เปิดเผยผลกระทบจาก National E-Payment (รวมถึง Internet banking, Mobile banking และ Prompt-Pay) ว่า อยู่ที่ประมาณ 6% และ 2% ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และประมาณ 7% และ 3% ของกำไรสุทธิตามลำดับ

และจากข้อมูลดังกล่าวทำให้มองเห็นผลกระทบสูงสุดของกำไรสุทธิ คือ ประมาณ 7% เป็น 3.78 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ 4.08 หมื่นล้านบาท สำหรับ KBANK และลดหลั่นลงสำหรับธนาคารอื่น ๆ เนื่องจากธนาคารอื่นมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนผ่าน Mobile banking ไม่มากนัก ซึ่งคาดว่าจะได้รับชดเชยระยะกลาง-ยาว จากค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดที่ลดลง ต้นทุนสาขาที่ลดลง รายได้ด้านอื่น ๆ จากการใช้ platform ที่เพิ่มขึ้น และโดยปกติรายได้จากการโอนเงินข้ามธนาคารที่รายการละ 25-35 บาท เข้าธนาคารเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไปที่ตัวกลางการโอนเงิน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา KBANK ที่ราคาปรับตัวลงมากที่สุด และหากรวมผลกระทบจาก Free Mobile banking fee โดยรวมตลอดทั้งปียังไดยังเห็นการเติบโตราว 10% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า และส่งผลกระทบต่อ 2018 BVS ประมาณ 1.23 บาท เป็น 157.68 บาท ROE ลดลงจาก 11.2% เป็น 10.5% ซึ่งต้องอิง Prospective PBV ใหม่ที่ 1.5 เท่า จะได้ราคาเหมาะสมที่ราว 235 บาท ซึ่งถือว่ายังมี Upside จากราคาปิดล่าสุดที่ 10%

ด้าน บล. เอเซีย พลัส ประเมินว่า ในระยะสั้นอาจมีผลกระทบต่อราคาหุ้น แต่ในระยะต่อไปนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการ ด้วยที่ว่าค่าธรรมเนียมในแต่ละปีนั้น จากการประเมินแล้วมิได้มีการเติบโต แต่อยู่ในภาวะทรงตัวมาโดยตลอด แต่อีกมุมหนึ่ง ทางธนาคารจะได้รับฐานลูกค้าที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยช่องทางการหารายได้ของกลุ่มแบงก์นั้น มีหลายช่องทาง ซึ่งเชื่อว่าจากฐานลูกค้าที่สูงขึ้น จะส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ที่ได้มาซึ่งรายได้ จะสูงมากยิ่งขึ้น

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า การให้ฟรีค่าธรรมเนียมดังกล่าวคล้ายรูปแบบของ Promtpay ที่ภาครัฐต้องการให้ทำ เพื่อลดค่าธรรมเนียมของกลุ่มแบงก์ อยู่แล้ว โดยคาดว่า หากมีการใช้ Promtpay เต็มรูปแบบ จะกระทบรายได้ราว 4-5% แต่เรื่องดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดจำนวน สาขาลง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคาร

ขณะเดียวกัน การที่ SCB และ KBANK เร่งให้คนใช้ฟรีก่อน จะเป็นการช่วยดึงลูกค้าให้มีการเข้ามาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ก่อน ซึ่งฐานลูกค้าดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่การทำธุรกรรมอื่น ๆ เช่น ปล่อยกู้เพิ่มเติมได้

จากข้อมูลดังกล่าว น่าจะพอสรุปได้ว่าการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมระบบ Mobile Banking Application ของธนาคาร แม้จะสร้างผลกระทบต่อผลประกอบการ หลังสูญเสียรายได้ในธุรกรรมดังกล่าวไป แต่หากพิจารณาจะพบว่า เป็นสัดส่วนรายได้ที่ไม่สูงมาก เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมอื่น ๆ อยู่โดยเฉพาะการทำธุรกรรมจากบัตร ATM ยังมีการคิดค่าธรรมเนียมการใช้งาน นั่นหมายความว่า แม้รายได้ในบางส่วนจะลดลง แต่ในระยะยาว จะเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร ในด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลง อีกทั้งยังมีฐานข้อมูลของผู้บริโภคและลูกค้าเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น