กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ได้สั่งอายัดทรัพย์ กลุ่มปั่นหุ้น บริษัท ยงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ YCI รวม 6 คน เป็นบัญชีเงินฝาก 17 บัญชี วงเงินทั้งสิ้น 4.17 ล้านบาท
การอายัดทรัพย์ขบวนการปั่นหุ้น YCI ครั้งนี้ เป็นไปตามความผิดที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งกับ ปปง. โดยพฤติกรรมการปั่นหุ้นเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 27 กันยายน 2556
ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้น ถูกบรรจุในมูลฐานความผิดการฟอกเงินมาหลายปี แต่ ปปง.ยังไม่เคยใช้ดาบอาญาสิทธิ์อายัดทรัพย์ แก๊งปั่นหุ้น YCI จึงเป็นกลุ่มแรกที่ถูกเล่นงาน
แก๊งปั่นหุ้น YCI มีจำนวนทั้งสิ้น 8 ราย และหลายคน มีชื่อร่วมในขบวนการปั่นหุ้น 6 บริษัท ซึ่ง ก.ล.ต. ประกาศเพิ่งกล่าวโทษยกแก๊งรวม 25 คน เรียกค่าปรับจำนวน 890 ล้านบาท และเป็นการตอกย้ำว่า ขบวนการปั่นหุ้นกลุ่มนี้เป็นแก๊งใหญ่ อาละวาดไปทั่วตลาดหุ้น
YCI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 140 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท แต่เป็นหุ้นที่สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนมาตลอด
จนไม่รู้ว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในยุคนั้น พิจารณาอนุมัติรับเข้าจดทะเบียนได้อย่างไร
ผลประกอบการ YCI ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ยอดรายได้ต่ำ ขาดทุนต่อเนื่อง จนมีปัญหาฐานะการดำเนินงาน และอยู่ระหว่างการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายเอสพี พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ราคาปิดครั้งสุดท้าย 13.20 บาท/หุ้น
ค่าพี/อี เรโช ของ YCI ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีผลกำไรให้คำนวณ เงินปันผลไม่มี รายได้รวมต่อปีมีไม่กี่สิบล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถูกแขวนในหุ้นตัวนี้เพียง 496 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 43.24 % ของทุนจดทะเบียน นอกจากนั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่กระจายกันหลายคน รวมทั้งผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ
อนาคตหุ้น YCI มองไม่เห็น เพราะฟื้นฟูการดำเนินงานมาหลายปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และเชื่อว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่ปลงกับหุ้นตัวนี้ ทำใจยอมรับสภาพความเสียหายไว้ล่วงหน้าแล้ว
ส่วนแก๊งปั่นหุ้นทั้ง 8 คนที่ปั่นหุ้นตัวนี้ คงไม่ได้เงินไปเท่าไหร่ เพราะ YCI เป็นหุ้นตัวเล็ก ไม่ใช่หุ้นยอดนิยม นักลงทุนทั่วไปไม่ค่อยเล่น จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ถึง 500 คน จึงไม่รู้ว่า ปั่นหุ้นแล้วจะหาเหยื่อที่ไหนกิน
ความน่าสนใจของคดี YCI อยู่ที่ บทบาทของ ปปง. ในตลาดหุ้น เพราะก่อนหน้าไม่เคยใช้อำนาจจัดการกับแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้น แก๊งปั่น YCI จึงถูกสังเวยเป็นกรณีแรก และน่าจะมีคดีต่อไปตามมา โดยเฉพาะคดี 6 หุ้นปั่นที่มีผ้ร่วมขบวนการ 25 คน ซึ่ง ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ ปปง. ตามแกะรอยเส้นทางการเงินแล้ว
การใช้อำนาจเด็ดขาดของ ปปง. สั่งอายัดทรัพย์ขบวนการปั่นหุ้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยกำราบ “แก๊งโกง” ในตลาดหุ้นให้เกิดความเกรงกลัว ไม่ก่อพฤติกรรมผิด สร้างความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุน
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ในภาวะ “เอาไม่อยู่” สำหรับแก๊งปั่นหุ้นที่เหิมเกริม ก่อพฤติกรรมความผิดอย่างซ้ำซาก โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงต้องดึง ปปง. เข้ามาเป็นตัวช่วย
การเชือดแก๊งปั่นหุ้น YCI อายัดทรัพย์ผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด จะทำให้แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นต้องหัวหดกันบ้างละ
เพราะยังมีแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นอีกหลายกลุ่มที่ ปปง. อยู่ระหว่างแกะรอยเส้นทางการเงิน โดยกลุ่มล่าสุดคือ ผู้ร่วมขบวนการ 25 คนที่ปั่นหุ้น 6 บริษัท ที่ ก.ล.ต. ประกาศดำเนินคดีฟ้องร้องทางแพ่งเมื่อต้นสัปดาห์
คนในตลาดหุ้นที่สุจริต ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องกลัว ปปง. แต่อาชญากรหุ้น นับจากนี้ต้องระวังให้ดี เพราะ ปปง. ยุคนี้เอาจริง มีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าดีเอสไอ
และได้เชือดแก๊งปั่นหุ้น YCI ให้ดูเป็นหนังตัวอย่างแล้ว ไม่รับรวมอีกหลายคดีที่ ปปง. เตรียมลากคอมิจฉาชีพในตลาดหุ้นตามมาอีก
(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )