xs
xsm
sm
md
lg

“ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” พลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งชายแดนใต้ ตอบโจทย์ผู้ใช้-คุ้มค่าจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถูกเรียกว่า “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ติดตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอบโจทย์ผู้ใช้ และคุ้มค่าจริงหรือ แพงเกินไปหรือเปล่า หากหมดประกันแล้วเกิดเครื่องเสียขึ้นมาจะทำอย่างไร หลายคำถามยังคงรอคำตอบ

มีรายงานจากสำนักข่าวอิศรา ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงที่ผ่านมา มีโครงการพัฒนาแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลปรากฏสู่สาธารณะเป็นระยะ
 
ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
ล่าสุด ชาวเน็ตในพื้นที่ได้พากันวิจารณ์โครงการติดตั้ง “ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หลังจากมีข่าวว่า ตู้กรองน้ำที่ว่านี้ราคาสูงถึงตู้ละกว่า 500,000 บาท เรียกว่า “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ก็คงไม่ผิดนัก

เสียงวิจารณ์ของชาวเน็ตในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนใหญ่มองว่า เป็นราคาที่แพงเกินไป น่าจะนำงบก้อนนี้ไปช่วยเหลือคนจนที่บ้านพัง หรือไม่มีบ้านอยู่อาศัยมากกว่า ขณะที่หลายคนตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อ โดยนำไปเปรียบเทียบกับโครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “เสาไฟโซลาร์เซลล์” ที่ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ถูกชาวบ้านร้องเรียนอย่างหนักว่า ใช้งานไม่ได้ ไฟไม่ติด หรือไม่ก็ติดๆ ดับๆ จนถูกรัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวน และสั่งการให้แก้ไขโดยด่วนมาแล้ว
 
ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า โครงการนี้มีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 2 สัญญา เป็นงบประมาณปี 60 ทั้ง 2 สัญญา งวดแรกตั้งงบเอาไว้ 11,500,000 บาท ติดตั้ง 19 จุด ราคากลางอยู่ที่จุดละ 610,000 บาท โดยเลือกพื้นที่เป้าหมายทางความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และพื้นที่เป้าหมายด้านการพัฒนาตามภารกิจของ ศอ.บต. ส่วนงวดที่ 2 ตั้งงบเอาไว้ 45 ล้านบาท เป้าหมายติดตั้งอีก 82 จุด ราคากลางจุดละ 549,000 บาท

จากโครงการที่ตั้งเอาไว้ และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว พบว่า เฉพาะปีงบประมาณ 2560 ศอ.บต.มีแผนติดตั้ง “ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” 101 จุด เตรียมงบไว้รวมๆ 56,500,000 บาท แต่เมื่อดำเนินโครงการจริง องค์กรตรวจสอบในพื้นที่ พบว่า ศอ.บต.ติดตั้ง “ตู้กรองน้ำ” ไปแล้ว 91 จุด ราคาจุดละ 549,000 บาท ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นราว 51 ล้านบาท

ข้อสังเกตขององค์กรตรวจสอบในพื้นที่ก็คือ เหตุใด ศอ.บต.จึงต้องแตกสัญญาจัดซื้อออกเป็น 2 สัญญา หรือต้องการเลี่ยงมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นช่องทางในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ (ไม่ต้องมีการประกวดราคา) และที่สำคัญคือ งบประมาณถึง 51 ล้านบาท นี้นำมาจากที่ไหน

นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคำถามว่า พื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการงวดแรกไม่มีพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เลย แต่ไปติดตั้งที่ จ.สตูล กับ จ.สงขลา ทั้งหมด เพราะแม้พื้นที่ จ.สตูล และสงขลา จะเป็น 2 ใน 5 จังหวัดที่ ศอ.บต.รับผิดชอบเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ความมั่นคงตามเป้าหมายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
จากการตรวจสอบ “จุดติดตั้ง” ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่า ส่วนใหญ่ติดตั้งเอาไว้ตามมัสยิดกับวัด มีบางจุดติดตั้งในโรงเรียน สำนักงาน อบต. แต่บางจุดก็ไปติดตั้งไว้ในสถานีตำรวจ และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน จึงมีคำถามว่า ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะแม้มัสยิดจะเป็นแหล่งรวมของพี่น้องมุสลิมที่ต้องไปละหมาดวันละ 5 เวลา แต่ก็คงเป็นเรื่องผิดปกติ หากไปละหมาดแล้วจะขนถังน้ำไปรองน้ำมาใช้ที่บ้านด้วย

ส่วนวัดในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมากไม่ใช่แหล่งรวมผู้คน หากไม่ใช่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเมื่อองค์กรตรวจสอบในพื้นที่ขับรถไปดูตามจุดที่มีการติดตั้งตู้กรองน้ำ พบว่า บางจุดตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนมาก และไปหลบมุมอยู่ลึกๆ โดยหลายๆ จุดที่ไปสังเกตการณ์ ไม่เห็นมีชาวบ้านไปต่อคิวรับน้ำ หรือกดน้ำจากตู้กรองน้ำ ที่ว่านี้เลย
 
ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
นอกจากนั้น หลายพื้นที่เริ่มมีการร้องเรียนเข้ามาว่า ชิ้นส่วนของตู้กรองน้ำเริ่มเป็นสนิม เช่น ที่บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี หลายแห่งชาวบ้านร้องเรียนว่า ตู้กรองน้ำฯ เสีย น้ำไม่ไหล บางแห่งก็มีช่างเข้าไปซ่อมแซม แต่เมื่อพิจารณาจากสัญญาติดตั้ง พบว่า ตู้กรองน้ำฯ ที่ติดตั้งชุดแรกๆ จะหมดระยะเวลาประกันภายในเดือนหน้านี้ คำถามก็คือ เมื่อหมดประกันแล้วเกิดชำรุด ขัดข้องขึ้นมาจะมีช่างไปซ่อมให้หรือเปล่า

สรุปประเด็นที่ “องค์กรตรวจสอบการใช้งบประมาณในพื้นที่” ตั้งคำถามนอกเหนือจากราคาต่อเครื่องค่อนข้างแพง และแยกการจัดซื้อออกเป็น 2 สัญญา โดยใช้ “วิธีพิเศษ” ไม่มีการประกวดราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ แล้ว ยังมีคำถามคาใจอื่นๆ อีกหลายข้อ เช่น

1.ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกพื้นที่ และบริเวณที่ติดตั้งตู้กรองน้ำ ทราบได้อย่างไรว่าเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน

2.มีการอบรมผู้นำท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชนเพื่อดูแลตู้กรองน้ำฯ ให้ใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาหรือไม่

และ 3.ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ไฟ 2 ระบบ คือระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หากมีแสงแดดมากพอให้เก็บไฟไว้ แต่ถ้าแสงแดดไม่พอก็สามารถใช้ไฟฟ้าปกติได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม มุมมองด้านดีของตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ก็มีเหมือนกัน “ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าทางการเกษตร” ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นจุดติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และได้พบกับ ธัญญา แก้วเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน

ธัญญา ยืนยันว่า ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตอบโจทย์ชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เพราะได้บริโภคน้ำสะอาดฟรี จึงมีชาวบ้านมารับน้ำตลอดทั้งวัน แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงว่าถ้าหมดระยะเวลาประกันแล้ว เครื่องมีปัญหาจะทำอย่างไร
 
ภาพโดยสำนักข่าวอิศรา
 
เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่อย่าง พัชรี เจียมแก้ว ชาวบ้านหมู่ 3 ต.ลำพะยา ที่บอกว่า ตู้กรองน้ำฯ มีประโยชน์มาก ชาวบ้านไปรับน้ำกันเยอะ เพราะน้ำสะอาด รับประทานได้ เสียแต่ว่าจุดติดตั้งอยู่ไกลบ้านไปหน่อย ทำให้ต้องเดินทางไปรับน้ำค่อนข้างไกล

ส่วนทหาร และ อส.ในพื้นที่ใกล้เคียง นำโดย พลทหารนพดล คงกล้า สังกัดกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 152 กองพลทหารราบที่ 15 ก็นำถังน้ำขนาดใหญ่ไปกดน้ำจากตู้กรองน้ำฯ กันอย่างคึกคัก ทุกคนพูดตรงกันว่า น้ำสะอาด ดื่มได้อย่างสบายใจ จึงนำถังมาขนน้ำไปดื่มที่ฐานปฏิบัติการทุกวัน

นี่คือข้อมูล 2 ด้านของโครงการตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาตู้ละครึ่งล้าน ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่บอกว่าไม่คุ้มค่า ราคาแพงเกินไป น่าจะนำงบไปใช้เรื่องอื่นมากกว่า กับอีกฝ่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน และกำลังพลในพื้นที่ ซึ่งบอกว่าได้ประโยชน์จากตู้กรองน้ำฯ อย่างมาก แต่ห่วงว่าถ้าหมดประกันแล้วเกิดเครื่องเสียขึ้นมาจะทำอย่างไร

เรื่องนี้ยังไม่จบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของราคาตู้ละครึ่งล้าน ว่าแพงจริงหรือไม่ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

โปรดติดตามตอนต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น