ยะลา - เลขาธิการ ศอ.บต. ชี้แจงกรณีการจัดซื้อ “เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” ตัวละ 5 แสนบาท ยันราคาไม่ได้สูงเกินจริง และเกิดจากความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมระบุ ศอ.บต.มีความโปร่งใสลำดับที่ 19 ของประเทศ จากทั้งหมดกว่า 300 หน่วยงาน
วันนี้ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพักของ นายศุภณัฐ สิรัญทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการเครื่องทำน้ำดื่มสะอาดพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละประมาณ 5 แสนบาท ว่า เริ่มต้นจากที่รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ลงพื้นที่ จ.สตูล และพบว่าประชาชนขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด จึงได้เป็นที่มาในการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวลงไป ทั้งนี้งบประมาณที่ว่านั้น หากไม่ดำเนินโครงการก็จะถูกส่งคืน ทำให้ประชาชนหมดโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากงบประมาณที่ได้รับมา และหากจัดสรรให้เฉพาะพื้นที่ จ.สตูล เพียงจังหวัดเดียวนั้น ก็คงไม่เหมาะสม เพราะ จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ก็อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นที่มาในการสำรวจพื้นที่ และทำการประชาคมกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งก็เป็นงานพัฒนาหลักของ ศอ.บต. ที่ทำงานพัฒนาเสริมงานความมั่นคงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
“เครื่องกรองน้ำนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ของบริษัทที่ได้รับจัดจ้างไป เป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลอินโนเวชั่น อวอร์ด เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรางวัลที่ไม่ธรรมดา เมื่อมีการจัดจ้างก็ดำเนินการตามระเบียบ เมื่อมีการติดตั้งก็มีคณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจรับเป็นที่เรียบร้อย และเป็นการติดตั้งตามที่ชุมชนต้องการ เช่น บางชุมชนมีการทำประชาคม ว่าจะติดตั้งที่บริเวณใด ทั้ง อบต. มัสยิด หรือตามแหล่งชุมชนที่สะดวกต่อชาวบ้านส่วนใหญ่ ทั้งนี้ สำหรับเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เครื่องนี้ หากมีปัญหาทางบริษัทที่รับติดตั้งจะทราบทันที เพราะมีการติดตั้งระบบตรวจสอบ ซึ่งเป็นระบบใหม่ของบริษัทแห่งนี้ และเมื่อทราบว่าเครื่องมีปัญหา ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูแลทันที ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทที่คอยดูแลอยู่ในพื้นที่ จำนวน 10 คน แบ่งเป็นจังหวัดละ 2 คน นอกจากนี้ เมื่อหลังจากมีการติดตั้งแล้ว ก็เกรงว่าหากหมดสัญญาประกันจะมีปัญหาในการดูแล เนื่องจากทั้งหมดเป็นระบบคอมพิวเตอร์ คนที่ดูแลจะไม่เข้าใจ จึงได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเครื่องตัวนี้แล้ว 2 ครั้ง ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา เป็นการทำความเข้าใจในการใช้ และการดูแล” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
นายศุภณัฐ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าเครื่องไม่มีประสิทธิภาพ เป็นสนิม ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วานนี้ (27 มี.ค.) ตนเองได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตนเอง ก็พบว่าเครื่องดังกล่าวอยู่ใกล้น้ำทะเล และมีฝุ่นค่อนข้างเยอะ เมื่อละอองน้ำทะเลกับฝุ่นไปจับตัวกันที่ตัวเครื่อง ก็ดูเหมือนเป็นสนิม แต่เมื่อนำผ้าชุบน้ำไปเช็ด ก็สะอาดเป็นสแตนเลสธรรมดา ไม่ได้เป็นสนิมแต่อย่างใด เครื่องกรองน้ำนี้ยืนยันว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านจริงๆ ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ที่ผ่านมาต้องซื้อน้ำขวดมาใช้ดื่ม ก็จะมีกลิ่นพลาสติก แต่น้ำจากเครื่องกรองตัวนี้เป็นน้ำไม่มีกลิ่น และอร่อย เพราะมีระบบโอโซนในเครื่องด้วย ทั้งนี้ตนเองยืนยันว่า เครื่องกรองน้ำทั้งหมดที่ติดตั้งไปยังสามารถใช้ได้ทุกเครื่อง และเป็นความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ชาวบ้านสามารถยืนยันได้
“ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่โปร่งใส ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาความโปร่งใสของ ศอ.บต.มีการตรวจสอบแล้วอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศ จากหน่วยงานกว่า 300 หน่วยงาน สิ่งนี้ยืนยันได้ เพราะมีกรรมการมาตรวจสอบ ทั้งทางลับและทางเปิดเผย สำหรับราคาเครื่องกรองน้ำนั้น ราคาจริงๆ ตามท้องตลาดในมาตรฐานเดียวกันสูงกว่าที่ทาง ศอ.บต.จัดซื้อ โดยทางบริษัทเขาอยากช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ ทางบริษัทยืนยันมาว่าราคาขายจริงๆ 7-8 แสนบาท หรือเป็นล้านต่อเครื่องก็มี” เลขา ศอ.บต. กล่าว