การออก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหา แม้จะมีเป้าหมายในการปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
แต่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ยังมีขอบข่ายในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่จำกัด โดยมุ่งการเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ในการสั่งจัดประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น
ไม่ได้เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ในการแทรกแซงการทำธุรกรรมอื่นที่อาจสร้างความเสียหายให้นักลงทุนได้ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนและการออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นหรือวอแรนต์
การให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการออกคำสั่งจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เป็นผลพวงจากปัญหา บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ซึ่งเกิดวิกฤตหนี้ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
ขณะที่คณะกรรมการบริษัทบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อคืนอำนาจให้ผู้ถือหุ้นที่จะร่วมกันกำหนดแนวทางแก้วิกฤต
แต่การบิดพลิ้ว ไม่ยอมจัดประชุมผู้ถือหุ้น เป็นเพียง 1 ในปัญหาการดำเนินงานของกรรมการบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายธุรกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้น แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไข
การออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญหรือวอแรนต์ ซึ่งดำเนินมาประมาณ 30 ปีนั้น รับรู้กันทั่วไปว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระตุ้นราคาหุ้นและเป็นช่องทางกอบโกยผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน
วอแรนต์ถูกเป็นเครื่องมือในการต้มตุ๋นนักลงทุนมาตลอด
รอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีวอแรนต์ออกมาเป็นร้อยรุ่น บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ออกวอแรนต์อย่างบ้าคลั่งถึง 6-7 รุ่น แต่วอแรนต์นับร้อยรุ่น ต้องสิ้นอายุไขโดยไม่มีค่า
เริ่มต้นจากศูนย์ จบลงที่ศูนย์ หมดอายุไขโดยไม่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ เพราะราคาแปลงสภาพสูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในกระดาน
นักเก็งกำไรวอแรนต์นับแสน ๆ คน ต้องสังเวยตราสารประเภทนี้ โดยกรรมการและฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนกอบโกยความร่ำรวย
การเพิ่มทุนเป็นอีกปัญหาที่ ก.ล.ต. ควรเข้าไปดูแล เพราะรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่ง มีพฤติกรรมการเพิ่มทุนที่ผิดปกติ
บางบริษัทเพิ่มทุนปีเดียวเกือบ 10 ครั้ง บางบริษัทเพิ่มทุนกว่าสิบครั้งในรอบ 3 ปี โดยบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ มีลักษณะเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน มีกิจกรรมการเพิ่มทุนในลักษณะเดียวกัน ออกวอแรนต์ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นเพื่อกระตุ้นราคาหุ้นเหมือนกัน
และเงินเพิ่มทุน มักจะถูกนำไปซื้อทรัพย์สินในราคาที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมตามที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระประเมินไว้
สุดท้ายผลประกอบการบริษัทขาดทุนหลายปีติดต่อ และบางบริษัทต้องล้มละลาย ทั้งที่สูบเงินจากผู้ถือหุ้นนับพัน ๆ ล้านบาท
การเพิ่มทุนถี่ นำเงินไปซื้อทรัพย์สิน เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เป็นช่องทางในการผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียน โดยสูบเงินจากผู้ถือหุ้น ก่อนนำไปซื้อทรัพย์สินในราคาที่แพงเกินจริง และรับเงินทอน โดยทิ้งความเสียหายให้บริษัท ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเป็นผู้รับเคราะห์
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ยืนดูแก๊งมิจฉาชีพ ใช้ช่องทางการเพิ่มทุน เป็นกลไกปล้นเงินนักลงทุนมาหลายปีแล้ว จนมีคำถามว่า ผู้บริหาร ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ปล่อยให้แก๊งมิจฉาชีพ ปล้นเงินนักลงทุนต่อหน้าต่อตาได้อย่างไร ทำไมไม่จัดการกับโจรในตลาดหุ้น
หลัง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ บริษัทจดทะเบียนจะเบี้ยวการจัดประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้แล้ว เพราะ ก.ล.ต.มีอำนาจแทรกแซงได้ทันที
แต่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ ฯ ไม่ได้มีผลครอบคลุมการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่ใช้วอแรนต์เป็นเครื่องมือปั่นหุ้น
ไม่มีผลครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนที่อาศัยการเพิ่มทุน เป็นกลไกในการสูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อย
บริษัทจดทะเบียนยังสามารถวอแรนต์มาหลอกต้มนักลงทุนหรืออาศัยช่องทางการเพิ่มทุน ปล้นเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างสนุกมือต่อไป
นักลงทุนนับแสน ๆ รายแล้ว ต้องตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพในคราบกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่ปั้มวอแรนต์ออกมาอย่างบ้าคลั่ง หรือเพิ่มทุนอย่างบ้าระห่ำ
ทำไม ก.ล.ต. จึงไม่จัดการกับบริษัทจดทะเบียนออกวอแรนต์และการเพิ่มทุนมาสูบเงินนักลงทุนเสียที