สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศร้องทุกข์กล่าวโทษ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IFEC รอบที่สอง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หลังจากเคยกล่าวโทษคดีทุจริตการลงคะแนนเสียงคัดเลือกกรรมการบริษัทมาแล้ว
ก.ล.ต.ระบุว่า นายวิชัยไม่ดำเนินการให้ IFEC ชี้แจงการผิดนัดชำระตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสอบถาม จนเป็นเหตุให้หุ้น IFEC ถูกพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 โดยนายวิชัยได้รับประโยชน์
เพราะหุ้นที่ถือไว้จำนวน 57.46 ล้านหุ้น และนำไปวางเป็นหลักประกันบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยมาร์จิ้น ไม่ต้องถูกบังคับขาย ทำให้นายวิชัยยังเป็นผู้ถือหุ้น และสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้น 3 ครั้งในปี 2560
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ก.ล.ต. เคยร้องทุกข์กล่าวโทษนายวิชัย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ในความผิดทุจริต โดยแสวงหาประโยชน์มิควรได้ จากการใช้วิธีลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม
ปัจจุบัน IFEC ถูกเจ้าหนี้ฟ้อง จนไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินได้ตามกำหนดเวลา และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ตลาดหลักทรัพย์ ประกาศเป็นบริษัทจดทะเบียนเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่บริษัท ฯ ไม่มีประธานกรรมการทำหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการ ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่มีประเด็นแง่กฎหมายว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
ก.ล.ต.เห็นว่า กรรมการ IFEC ควรรีบแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ฯ และผู้ถือหุ้น โดยทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสเสนอชื่อและเลือกตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการ
ก.ล.ต. จึงขอให้กรรมการ IFEC ชี้แจงเป็นรายบุคคลว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
และเปิดเผยคำชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ภายใน 7 วัน หรือภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ถ้าไม่ดำเนินการ อาจถูกพิจารณาว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด
สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับเงินลงทุนของ IFEC ในโครงการพลังงานทดแทนและเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบความผิด จะดำเนินการตามกฎหมาย
การร้องทุกข์กล่าวโทษนายวิชัย คงไม่จบเพียงแค่ 2 คดี เพราะน่าจะมีพฤติกรรมความผิดอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะการถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเงินลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนหรือกรณีอื่น ๆ
IFEC แทบจะกลายเป็นซาก ในยุคที่นายวิชัยเป็น ประธานกรรมการ แต่ความเสียหายที่ก่อไว้ กำลังตามมาคิดบัญชีกับนายวิชัย ทั้งคดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องและคดีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ
นายวิชัยกำลังพบจุดจบแล้ว แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC จำนวน 27,170 รายยังไม่รู้ชะตากรรม เพราะขณะนี้ไม่มีแนวทางใดในการแก้ปัญหาบริษัท
ไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการ IFEC ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในช่วงที่นายวิชัยบริหารทำอะไรกันอยู่
ไม่มีใครบอกได้ว่า ฐานะที่แท้จริงของ IFEC เป็นอย่างไร ทรัพย์สินเหลือเท่าไหร่
และไม่มีใครเคยออกมาประกาศถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ แม้แต่ ก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนโดยตรง
นับจากการขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 รวมเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ IFEC ตกอยู่ในความมืดมน
ผู้ถือหุ้นรวมตัวกันร้องเรียนทุกหน่วยงาน ร้องทุกข์กระทั่งนายกรัฐมนตรีขอให้เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหา เยียวยานักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจาก IFEC แต่ไม่มีหน่วยงานใด สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ได้
คดีฟ้องร้องต่าง ๆ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องใช้เวลา ขณะที่ความเสียหายของ IFEC ลุกลามบานปลาย เพราะบริษัทไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ แต่ยังมีรายใช้จ่าย ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่วิ่งไม่หยุด ทั้งเงินเดือนคณะกรรมการและพนักงานบริษัท ฯ โดยผู้ถือหุ้นเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระ
การแก้ปัญหา IFEC ยิ่งยืดเยื้อ ฐานะบริษัทยิ่งทรุด จากบริษัทจดทะเบียนที่มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน สุดท้าย อาจกลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
นายวิชัยเตรียมรับชะตากรรมที่ก่อไว้แล้ว แต่ใครจะช่วยเยียวยาผู้ถือหุ้น IFEC ที่ต้องรับชะตากรรมจากการกระทำของนายวิชัย
ใครจะเร่งแก้ปัญหา IFEC ให้เบ็ดเสร็จโดยเร็วที่สุด ก่อนที่บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะถูกสูบจนเหลือแต่ซาก