xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.ยึดอายัดทรัพย์นักค้ายาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ และ ฉ้อโกง ปชช.รวมมูลค่ากว่า 27 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ที่ประชุม ปปง. มีมติยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 12 คดี คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม 1 คดีคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกง จำนวน 4 คดี รวมมูลค่ากว่า 27 ล้าน เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและเส้นทางการเงิน

วันนี้ (27 มี.ค.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 6/2561 ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดคดีที่สำคัญ ดังนี้ 1. คดีเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 12 คดี รวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทั้งสิ้น จำนวน 154 รายการ รวมมูลค่ากว่า 9,986,300.98 บาท อาทิ คดี น.ส.พิมพ์นิภา วันน้อย กับพวก สืบเนื่องได้รับรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ส. รายงานการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีคำพิพากษา ว่า น.ส.พิมพ์นิภา มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (1) จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 11 รายการ พร้อมดอกผล ประมาณ 2,074,274.45 บาท และ คดี น.ส.นวพร จันทรรัศมี กับพวก สืบเนื่องได้รับรายงานจาก บก.น.2 รายงานการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ ชุดปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดชายแดนไทย - ลาว ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดตำรวจภูธรภาค 3 ทำการตรวจค้นและจับกุม น.ส.นวพร กับพวก พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินและแจ้งข้อหา ในฐานความผิด “สมคบและสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิดรับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิด เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ซึ่งคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์เกินกว่ายี่สิบกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย” ต่อมาศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีคำพิพากษา ลงโทษจำคุก น.ส.นวพร 6 ปี การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (1) จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 82 รายการ พร้อมดอกผล ประมาณ 2,500,000 บาท

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า 2. คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม 1 คดี รวมทรัพย์สินที่ยึดทั้งสิ้น รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท คือ คดี น.ส.ภาวนา สุขจิต กับพวก สืบเนื่องได้รับรายงานจาก สภ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ รายงานการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม น.ส.ภาวนา พร้อมของกลางไม้แปรรูป ซึ่งผู้ใดครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิด และต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาลงโทษ น.ส.ภาวนา ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษจำคุก 4 เดือน 15 วัน คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (15) ในการประชุมได้มีมติให้ยึดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 1 รายการ พร้อมดอกผล ประมาณ 100,000 บาท

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า 3. คดีเกี่ยวกับการฉ้อโกง จำนวน 4 คดี รวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทั้งสิ้น จำนวน 31 รายการ รวมมูลค่ากว่า 17,343,270.07 บาท เช่น คดี น.ส.อินทร์วรางค์ ดำแดง กับพวก สืบเนื่องได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจำนวนหลายราย โดยได้เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.อินทร์วรางค์ ในความผิดฐานฉ้อโกง หลอกลวงให้ร่วมลงทุนซื้อทองคำในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า โดยต่อมาพนักงานสอบสวนรับไว้เป็นคดีอาญา ที่ 46/2560 การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3) และ (18) คณะกรรมการธุรกรรม มีมติให้อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ พร้อมดอกผล ประมาณ 4,000,000 บาท และ คดี นายปาณสาร สมชีวิตา กับพวก สืบเนื่องจากนายปาณสาร ได้หลอกลวงผู้เสียหาย โดยกล่าวอ้างว่าตนเองมีหุ้นที่ถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) โดยได้รับจัดสรรมาจากผู้มีอุปการคุณ แต่ก็ไม่สามารถโอนหุ้นตามที่กล่าวอ้างมาได้ การหลอกลวงทำให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ จะจ่ายค่าตอบแทนตามที่ได้กล่าวอ้างไว้จริง ทำให้ผู้เสียหายมีความอยากได้ผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น จึงเพิ่มจำนวนเงินในการซื้อหุ้นไอพีโอ (ไอพีโอ) ตัวถัดไป จนกระทั่งท้ายสุดไม่สามารถนำหุ้นไอพีโอหรือเงินมาชดใช้คืนให้กับผู้เสียหายได้ พฤติกรรมคล้ายลักษณะ “แชร์ลูกโซ่” โดยที่ความเป็นจริงบรรดาหุ้นไอพีโอทั้งหมดที่นำมากล่าวอ้างกับผู้เสียหายนั้นไม่มี ตนเองไม่มีสิทธิได้ครอบครอง จนกระทั่งศาลได้มีคำพิพากษาจำคุกนายปาณสารฯ และให้ชดใช้เงินคืนให้กับผู้เสียหายในเวลาต่อมา การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3) และ (18) คณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 10 รายการ พร้อมดอกผล ประมาณ 12,114,554.36 บาท

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินตามกฎหมายต่อไป” พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น