xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) “พล.ต. บุญเลิศ” กร้าว! เดินหน้าล้างบางทุจริต IFEC ไม่หวั่นอิทธิพลผู้บริหารเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานกรรมการตรวจสอบ IFEC ตั้งโต๊ะแถลงปมร้อนการบริหารภายใน IFEC เผยเตรียมเดินหน้าตรวจสอบทุกกระบวนการทุจริตคอรัปชันในองค์กร ไม่หวั่นอิทธิพลอดีตผู้บริหารเก่า คาดได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน



พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อชี้แจงกระบวนการตรวจสอบความไม่โปร่งใสของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทประสบปัญหา ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ และหุ้นของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายมากว่า 1 ปี โดยพลตรีบุญเลิศ ชี้แจงว่า ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดข้อสงสัยมากมายจากทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุน หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ถึงความไม่น่าจะโปร่งใสในการทำธุรกิจธุรกรรมของ IFEC ในหลาย ๆ โครงการ ที่ดูเหมือนมีข้อบกพร่องในการบริหารจัดการ และมีข้อสงสัยว่า อาจจะเกิดกรณีการกระทำทุจริต จนทำให้องค์กรธุรกิจแห่งนี้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท อันอาจจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนในวงกว้าง

ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลการบริหารจัดการภายในพบว่ามีการทุจริตและบริหารงานไม่โปร่งใสหลายประการ ที่คณะกรรมการตรวจสอบให้ข้อคิดเห็น และตั้งประเด็นสงสัย และสอบถามหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้การทำงานยากลำบากมาก แต่หลังจากที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เข้าไปตรวจค้นอุปกรณ์และเอกสารต่าง ๆ ในสำนักงานของ IFEC เพื่อนำไปรวบรวมหาข้อเท็จจริงในการบริหารงาน และการลงทุนต่าง ๆ ที่มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนนับจากนี้ โดยเบื้องต้น พบความน่าสงสัยหลายประการ เช่น

1. การบริหารจัดการที่ผ่านมาอำนาจอยู่ที่คน ๆ เดียวทั้งหมด ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการบริหาร

2. การสร้างอาณาจักรบุคคลล้อมรอบกาย ซึ่งอาจขาดความรู้ความเข้าใจในเชิงบริหาร และได้ข้อมูลผิด ๆ รวมทั้งขาดความรู้ประสบการณ์ และพื้นฐานทางการศึกษา

3. มีการปกปิดข้อมูลเชิงลึก ซึ่งควรรายงาน ตลท./ก.ล.ต./ประชาชน/ผู้ถือหุ้น/เจ้าหนี้/สถาบันการเงิน อันอาจนำมาซึ่งการตัดสินใจและการบริหารผิดทิศทางนำความเสียหายมาสู่องค์กรได้

4. มีการทุจริต/ฉ้อโกงเกิดขึ้นในบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2557-2559 เป็นต้นมา และมีการต่อสู้ฟ้องร้องกันไปมาอยู่ในขณะนี้ยิ่งนานยิ่งเสียหาย

5. การตรวจสอบและรับรองงบจากผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาต บริษัทกรินทน์ ในปี 2559 มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ราว 1,800 ล้านบาทเศษ

ุ6. ผู้สอบบัญชีไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อการลงทุนในโครงการลงทุนในต่างประเทศ เช่น เขมร, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมทั้งมิได้มีการทำดีลแคร์ก่อให้เกิดคำถามในสังคมว่า “เงินหายไปไหน?” ซึ่งผู้สอบบัญชีก็อ้างว่าไม่มีเอกสารเพียงพอต่อการตรวจสอบ

7. การเพิ่มรายได้จากการออกตั๋ว instrumental ทางการเงินประเภทต่าง ๆ กว่า 6,500 ล้านบาท ไม่รวม bank loan ไม่สามารถตรวจสอบเชิงลึกว่าเงินหายไปไหน แม้จะมีการสอบทาน bank reconcile ก็ยากลำบากเพราะมีการปิดบังข้อมูลจากการร้องของท่านประธาน AC หลายครั้งแล้วก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวทำให้ไอเฟค มีหนี้รวมดอกเบี้ยราว 8,500 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์ราว 12,000 บาท ซึ่งหากถูกตั้งค่า depreciation, lmpair, force sale คุณภาพและราคาสินทรัพย์อาจจะมีมูลค่าต่ำลงไปอีก

8. การเข้าไปซื้อโรงแรมดาราเทวี มูลค่ากว่า 4,170 ล้านบาท ในลักษณะเร่งรีบ ทำให้ราคาซื้อเกินกว่ามูลค่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีการคำนวนถึง income/cost approach ราคาที่ได้มา ไม่น่าคุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งมิได้ทำ due diligence อย่างถูกต้อง มีหนี้ปลอมเกิดขึ้นกว่าร้อยล้าน และมีการชำระเงินออกไปหลายล้านบาทก่อนเซ็นสัญญาซื้อขาย มีการเช่าหน้าบ้าน เช่าอุปกรณ์ตกแต่งนอกเหนือจากราคาซื้อ โรงแรมตั้งอยู่คร่อมลำรางสาธารณะ ซึ่งจะมีปัญหาต่อใบอนุญาต และการขอ EIA ในขนาดห้องที่เกิน 80 ห้อง อีกทั้งมีเรื่องการบริหารจัดการมีการไล่ผู้บริหารมืออาชีพออกหลายราย ส่งผลให้มีรายได้ตกต่ำสุดขีด ขณะที่สภาพโรงแรมทรุดโทรม และมีการนำเงินออกมาเลี้ยงไอเฟค และจ่ายดอกเบี้ยไอเฟค จนเป็นปัญหาโรงแรมขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และยังมีปลดพนักงานที่ไม่เป็นธรรมอีกจำนวนมาก

9. บริษัทฯ มิได้วางรูปแบบบริหารตามหลัก Corporate Governance ไม่ว่าจะเป็น Vision, Mission, Straitegy, Tactic, Planing, Project Grouping, BSC, KPI, Risk Management Appraisal, Accountabilities Outcome Ultimate Outcome ซึ่งถือเป็นหลักการบริหารเชิงลึกในการทำงานนอกเหนือจาก Legal Compliance’s Internal Auditor

10. การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากไอเฟค มีภาระหนี้จากการออกตั๋วทุกประเภทประมาณ 8,500 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย และ Bank Loan ไอเฟคเริ่มมีปัญหาค้างชำระ และถูกเจ้าหนี้รุมฟ้อง รวมทั้งไม่สามารถชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัดได้ เช่น กับบริษัท Solalis กว่า 1,000 ล้านบาท และศาลได้ตัดสินให้ไอเฟค ใช้หนี้ อีกทั้งปัจจุบันเจ้าหนี้ทะยอยฟ้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“โดยที่ผ่านมา ผมพยายามที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายจนตกผลึกว่า ในวันที่ 2 พ.ย. 60 เราจะประชุมร่วมกันที่โรงแรม Mercure Fortune เช้า 10.00 น. โดยมีสาระสำคัญของการตกลง คือ ไอเฟคตกลงที่จะขยายระยะเวลาตั๋วทุกประเภท 3-6 เดือน ออกไปเป็น 5 ปี โดยในไตรมาสแรกจะชำระเงินต้นให้ราว 25-28% ของมูลหนี้ด้วยดอกเบี้ยราว 7% สูงสุด เงินต้นส่วนที่เหลือจะขยายไป 5 ปี และเมื่อใดไอเฟคขายทรัพย์สินได้ ก็ให้นำมาชำระเพื่อลดภาระดอกเบี้ย อีกทั้งรูปแบบการผ่อนชำระ 5 ปี อาจจะมีวิธีชำระในลักษณะ Progressive Rate, Balloon Payments และหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์และรองรับ Cash Flow ของบริษัทให้เดินไปได้ก่อนจนแข็งแรง ซึ่งเจ้าหนี้ทุกรายมีความคิดเห็นตรงกัน แต่ก่อนถึงวันประชุมราวช่วง 20.00 น. ก็มีคำสั่งไม่ให้มีการประชุมโดยอ้างว่า ผิดกฎหมาย และวันรุ่งขึ้นก็ไม่แจ้งเจ้าหนี้, ผู้ถือตั๋ว, และผู้ถือหุ้น ปล่อยให้ทุกคนมาประชุมเก้อ ทำให้ผมเสียหาย หมดความเคารพนับถือจากทุกฝ่าย และสังคม นอกจากนั้น ทางเจ้าหนี้ก็มีความคิดเห็นที่จะเรียกประชุมเอง และเชิญไอเฟค ไปรับฟัง ก็ถูกคำขู่ด้วยการออกจดหมายเซ็นโดยนายศุภรนันทน์ จะเอาโทษทางกฎหมาย หากเจ้าหนี้กระทำการดังกล่าวมาอีกหนึ่งฉบับ”

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการที่ไม่น่าไว้วางใจดังกล่าว และขาดความโปร่งใส ไม่น่าเชื่อถือซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอาจมีการยักย้ายถ่ายเทข้อมูล รวมถึงการไม่ให้ข้อมูลขั้นต้นและเชิงลึกต่อคณะกรรมการ ทำให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งมีการสร้างปรากฏการณ์ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิด 2-3 ตัว พร้อมเครื่องมือดักฟังการสนทนาของกรรมการมาตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้ใจกรรมการ และได้มีการกล่าวหาเมื่อกรรมการทราบว่ามาทำลายทรัพย์ของบริษัท ซึ่งกรรมการใด้แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว

ทั้งนี้ ในเรื่องของการตรวจสอบความไม่โปร่งใสที่คณะกรรมการให้ข้อคิดเห็น และตั้งประเด็นสงสัย และสอบถามหลายครั้ง แต่ไม่ใด้รับควมร่วมมือเชิงลึก และไม่ได้รับทำให้การทำงานยากลำบากมาก แต่ก็สบายใจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และ ก.ล.ต. ได้เข้ามาตรวจสอบบริษัทฯ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาจึงน่าจะยึดและตรวจสอบเอกสาร และอุปกรณ์ดักฟัง หรือกล้องวงจรปิด และเอกสารทางบัญชีการเงินที่สามารถตรวจสอบการลงทุนในต่างประเทศ การซื้อโรงแรมดาราเทวี การลงทุนของบริษัทลูกทุกบริษัทได้ดีก่อนนำมาเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นเจ้าหนี้ผู้ถือตั๋วได้อย่างกระจ่างชัด และสามารถนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีลงโทษ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่แท้จริง และสามารถคืนสิทธิให้ผู้ถือหุ้น, เจ้าหนี้, ผู้ถือตั๋ว และราชการ ในการบริหารต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น