xs
xsm
sm
md
lg

คืนแล้วไม่ผิด? เปิดกรณีศึกษา ผญบ.ลำปางยักยอกเงิน กข.คจ. 8 ปีมีแค่คืนเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ส่องกรณีศึกษาผู้ใหญ่บ้านเมืองรถม้ายักยอกเงิน กข.คจ.ทำธุรกิจส่วนตัวเกือบเกลี้ยงกองทุนฯ เรื่องแดงมา 8 ปี พช.แค่ลงบันทึกประจำวัน-ให้คืนเงินแล้วจบ!? วินัย-อาญาไม่คืบ

หลังจากพระอาจารยสาธิต ธีรปัญโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ เครือข่ายพระนักพัฒนา ได้นำเอกสารเข้าร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบพฤติกรรมของผู้ใหญ่บ้านสบเติ๋น และขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ใหญ่บ้านสบเติ๋น ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ-ประธานกองทุนฯ ยักยอกเงินโครงการ กข.คจ. ระหว่าง พ.ศ. 2551-2555 ไปใช้ส่วนตัว 210,000 บาท จากทั้งหมด 280,000 บาท

แต่มาถึงวันนี้ผ่านมานานกว่า 8 ปีชาวบ้านกลับยังไม่ทราบความคืบหน้าของการตรวจสอบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางอาญา ละเมิด หรือแม้แต่ทางวินัย

ล่าสุดนางวิลัยลักษณ์ ม่วงงาม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดในเรื่องดังกล่าว เปิดเผยว่า หลังเกิดเรื่องทางสำนักงานฯ ได้ตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปรายงานส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและผู้บังคับบัญชาตามลำดับ

แต่เนื่องจากความเสียหายเกิน 2 แสนบาท จึงต้องรายงานกระทรวงการคลัง ซึ่งนายชนะชัยยอมรับว่าเอาเงินไป และรับว่าจะจ่ายทั้งหมดเอง แต่กระทรวงการคลังบอกว่าไม่ได้ เพราะหลักฐานมีการเบิกร่วมกัน 3 คน จึงต้องรับผิดชอบตามสัดส่วน ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตามนั้น และก็มีการจ่ายเงินคืนตามนั้นจนครบถ้วนแล้ว

“ตลอดการดำเนินการก็ได้มีการปรึกษาทางนิติกรกรมฯ มาตลอด โดยเฉพาะเงินคืน ตอนแรกเราคิดว่าเป็นเงินที่ให้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย จึงจะคิดเฉพาะเงินที่หายไป แต่กระทรวงการคลังบอกมาว่าจ่ายคืนแบบนั้นไม่ได้ เพราะเหมือนกับว่าเป็นการนำเงินออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่จ่ายคืนและผิดนัด จึงต้องคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงทำเรื่องใหม่และให้ทุกคนมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นจนครบถ้วน ซึ่งการดำเนินงานก็ใช้เวลา 2-3 ปีเหมือนกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้ผู้ที่นำเงินออกไปทำตามขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ และวิธีการที่ชาวบ้านจะเข้ามาขอยืมเงิน กข.คจ.ต้องทำอย่างไร

นางวิลัยลักษณ์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพราะตามระเบียบคือ เพื่อให้ชาวบ้านกู้ยืมไปใช้ในการประกอบอาชีพ แต่กรณีนี้เบิกเงินออกมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้เขามีความผิดทางละเมิด และเขาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนความผิดทางอาญาคือ ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือนเมื่อรู้ ซึ่งพอเราไปดูมันเกินระยะเวลาตรงนี้ไปแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ ซึ่งเรารู้เมื่อมีการร้องเรียนมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่านับจากวันไหนที่รู้ นางวิลัยลักษณ์กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ แต่ก่อนหน้านั้นทางอำเภอฯ ได้มีการไปลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว ทำให้เราดำเนินการทางด้านละเมิดกับเขาเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วทางนิติกรของกรมฯ ให้คำแนะนำในเรื่องนี้อย่างไร นางวิลัยลักษณ์ กล่าวว่า ดูแล้วทางกรมฯ ส่วนใหญ่ก็ต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยมากกว่าเพื่อให้ได้เงินของรัฐกลับคืนมา ถ้าหากสามารถไกล่เกลี่ยได้ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีในลักษณะนี้ ก็จะมีทั้งสมาชิก คณะกรรมการ ก็จะให้ไกล่เกลี่ย และนำเงินกลับคืนมา โดยที่ไม่ได้แจ้งความ และประกอบกับจะไม่ทันเรื่องระยะเวลา ทำให้เราไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ ส่วนกรณีนี้ก็ได้เงินกลับคืนมา 3 แสนกว่าบาท

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าหากเกิดกรณีในลักษณะแบบนี้แล้ว แต่ไม่มีการดำเนินคดีอาญา จะทำให้เป็นเยี่ยงอย่างได้หรือไม่เพราะเมื่อทำผิดจับได้นำเงินมาคืนก็จบ นางสาวศศิธร อินทกุล พัฒนาการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า หากเป็นกรณีอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรปฏิบัติ และหากย้อนไปดูก่อนหน้านี้ก็จะเห็นว่าทางกรมก็ได้เริ่มวางแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร ฉะนั้นหากนำเคสนี้เป็นตัวอย่างในการที่จะนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ต่อไปก็จะเป็นประโยชน์ และทางเราเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และจะกำกับดูแลให้มากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้เมื่อผู้กระทำผิดยังกลับเข้ามาทำหน้าที่เดิมจะมีการกำกับดูแลอย่างไร นางสาวศศิธร อินทกุล พัฒนาการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ตรงนี้ก็ยังมีการพูดคุยกันอยู่ว่าเมื่อมีการกระทำในลักษณะนี้แล้ว ทำไมถึงได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้กลับมาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านได้อีก แสดงว่าในระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ ผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นประธานฯ โดยตำแหน่ง ซึ่งหากต้องแก้ไขระเบียบส่วนนี้ก็คงต้องให้แก้ไขจากทางส่วนกลาง

ในฐานะที่ตนเพิ่งมารับตำแหน่ง และเพิ่งเจอปัญหานี้เป็นเรื่องแรก ก็คิดว่าจะต้องหยิบเรื่องนี้เสนอต่อว่า ในหมู่บ้านที่ได้รับงบประมาณในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะแบบนี้ ส่วนกลางในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจและเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายได้ ก็จะต้องมีตัวเลือกให้ถือปฏิบัติในพื้นที่ที่มีปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดังนี้

วันที่ 7 มี.ค. 54 ตัวแทนชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังนายอำเภอแม่เมาะ

วันที่ 21 มี.ค.54 เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอแม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับชาวบ้าน ณ อาคารอเนกประสงค์หมู่บ้าน ซึ่งในวันดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีการทุจริตเงินกองทุน กข.คจ. โดยประธานกองทุนฯ หรือผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นรับสารภาพว่าเอาเงินกองทุนออกไปใช้ส่วนตัวจริงเป็นเงิน 210,000 บาท

วันที่ 25 มี.ค. 54 ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงนายอำเภอแม่เมาะ เพื่อให้ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเลยตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวหรือไม่

วันที่ 29 มี.ค. 54 (จากวันที่ทราบเรื่องในวันประชุม 7 วัน) พัฒนาการอำเภอแม่เมาะเข้าพบ พงส.สภ.แม่เมาะ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ว่า นายชนะชัยได้ถอนเงินโครงการ กข.คจ. บ้านสบเติ๋น จำนวน 210,000 บาท ไปใช้ประกอบอาชีพส่วนตัว ตั้งแต่เดือน พ.ค. 51 พร้อมระบุว่า ไม่ประสงค์ร้องทุกข์ เพียงมาลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น หากประสงค์จะร้องทุกข์จะมาร้องทุกข์ในภายหลัง

วันที่ 29 มี.ค. 54 นางเฉลา และนายชนะชัย ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว และทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ โดยนายชนะชัยได้ตกลงยินยอมชดใช้ 2 ปี ปีที่ 1 นัดหมายชำระ 30 ธ.ค. 54 เป็นเงิน 69,790 บาท, ปีที่ 2 นัดชำระ 30 ธ.ค. 55 เป็นเงิน 172,000 บาท (รวมดอกเบี้ยแล้ว) ทั้งนี้ การทำสัญญายังไม่ครบถ้วน โดยยังไม่มีผู้ใดมาค้ำประกัน โดยนายชนะชัยขอพาผู้ค้ำมาในวันที่ 2 เม.ย. 54 จำนวน 2 คน

วันที่ 25 เม.ย. 54 ตัวแทนชาวบ้านทำหนังสือถึงนายอำเภอแม่เมาะ ทวงถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว

วันที่ 18 พ.ค. 54 ตัวแทนชาวบ้านทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทวงถามเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

วันที่ 31 พ.ค. 54 รองผู้ว่าฯ มีหนังสือถึง นอภ.แม่เมาะ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยนัดบุคคลเป้าหมาย รวม 10 คน มาให้ข้อมูลในวันที่ 10 มิ.ย. 54 ณ ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ

ด้านนายเกษม ใจจันทร์ ปลัดอำเภอแม่เมาะ ซึ่งเป็นประธานในการสอบสวนวินัยนายชนะชัย ผู้ใหญ่บ้านสบเติ๋น เปิดเผยว่า ทางจังหวัดฯ ได้มีหนังสือให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยในเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ด้วยทางอำเภอแม่เมาะเปลี่ยนตัวปลัดฯ ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวบ่อยครั้ง จึงทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ และต้องมีการส่งต่องานกัน ทำให้คนที่มารับงานใหม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่จึงทำให้ล่าช้า

ส่วนตนก็เพิ่งมารับตำแหน่งและคำสั่งให้สอบสวนในเรื่องนี้อีกครั้งประมาณปลายเดือนมกราคม 61 และขณะนี้ตนก็เร่งทำการสอบสวนเพิ่มเติมบางส่วนซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จในกรอบที่กำหนด คือได้เร่งแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบภายใน 15 วันหลังได้รับคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวน และรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และสรุปสำนวนส่งให้จังหวัดภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสอบสวนใช้ข้อมูลส่วนไหนประกอบบ้าง และเวลาผ่านมานานหลักฐานต่างๆ หรือพยานที่เคยมีการสอบไปก่อนหน้านี้จะยังเหมือนเดิมไหม นายเกษมกล่าวว่า บางส่วนที่ทำไปก่อนหน้านั้นก็ยังใช้ข้อมูลเดิม เพียงแค่ต้องไปสอบเพิ่มเติม และยืนยันข้อมูลของแต่ละคนเท่านั้น หากผลการสอบสวนทางวินัยออกมาว่าผู้ใหญ่บ้านกระทำผิดจริงตามพยานหลักฐานที่มี โทษทางการปกครองคือปลดออก


กำลังโหลดความคิดเห็น