ประธานกรรมการ BAM ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 61 มีแนวโน้มเติบโตตามการประเมินของภาครัฐ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ แต่ยังห่วงการบริโภคที่ยังขยายตัวได้น้อย ประกาศแผนกลยุทธ์ปี 61 ขับเคลื่อนองค์กรเจริญเติบโตแบบยั่งยืน ไม่เน้นกำไรสูงสุด พร้อมเดินหน้าองค์กรมุ่งสู่การเป็น Digital Enterprise แจงเรื่องแผนเข้ากระจายหุ้น ระบุ เม.ย. นี้ เคาะก้าวเดิน บสก. ตามแผน 5 ปี เผยผลงานปี 2560 มีผลเรียกเก็บเงินสดรวม 15,269 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,500 ล้านบาท ระบุปี 2560 ที่ผ่านมา รับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการถึง 10,963 ล้านบาท
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งทรงตัวในระดับเดียวกันกับปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มของเศรษฐกิจมีทิศทางที่เติบโตได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มียอด NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ รวมจำนวน 429,030 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ไทยมีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) คิดเป็นมูลค่ารวม 86,232 ล้านบาท ขณะที่ ณ 31 ธันวาคม 2560 BAM มี NPL จำนวน 73,809 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 442,052 ล้านบาท และมี NPA จำนวน 16,377 รายการ มูลค่า 45,177 ล้านบาท
“หลายปัจจัยบ่งชี้เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ที่ 3.9% ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ตารางบินจากจีนมาไทยค่อนข้างมาก เงินเฟ้อเริ่มขยับเข้าใกล้เพดานที่คณะกรรมการนโยบายการเงินวางไว้ การฟื้นตัวยังมีผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเห็นการเพิ่มขึ้นของอุปทานในปีนี้ประมาณ 1.54 แสนยูนิต เพิ่มขึ้น 6.8% อุปสงค์ยังคงมีมาก เนื่องจากอัตาดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ มีการลงทุนโครงข่ายของภาครัฐ และความชัดเจนของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ทำให้เกิดดีมานด์ในโครงการแนวราบ และราคาอสังหาฯ ในไทยยังน่าลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน และที่สำคัญ การเกิดโครงการข่ายรถไฟฟ้าหลายเส้นทางช่วยให้อสังหาฯ ตามหัวเมืองเติบโตอีก แต่ก็ต้องติดตามเรื่องการอุปโภคที่ยังขยายตัวได้น้อยจากหนี้ครัวเรือนที่สูง สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงอุปสรรคเกี่ยวกับต้นทุนในการก่อสร้าง เป็นต้น”
สำหรับทิศทางธุรกิจของ BAM ในปีนี้ จะขับเคลื่อนองค์กรเจริญเติบโตแบบยั่งยืน โดยมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุดที่นึงของประเทศ ด้วยการวางรากฐานสู่การเป็น Digital Enterprise ที่มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าด้วยการตลาด Digital เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน จะใช้ศักยภาพของ BAM ดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือลูกค้า NPL และ NPA โดยมีมาตรการ และโครงการต่าง ๆ เพื่อมุ่งช่วยเหลือลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ และลูกค้าที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM และจะถือปฏิบัติต่อลูกค้าของ BAM เทียบเท่ากับลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ ข้อมูลทางการเงินของบริษัทฯ ในปี 2560 BAM มีสินทรัพย์รวมจำนวน 99,933 ล้านบาท มีรายได้ทั้งหมด 7,653 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,500 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ ต่อหุ้น 1.67 บาท
เรื่องใหม่ในไทย AMC เข้าตลาดหุ้น
นางทองอุไร กล่าวถึงความคืบหน้าในการกระจายหุ้นของ บสก. ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามขั้นตอนที่ดำเนินการ มีการจัดจ้างที่ปรึกษา การลงทุนและปรับปรุงระบบสารสนเทศ (ไอที) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ดีที่สุดที่หนึ่ง เพื่อเป็นรากฐานของ BAM ในระยะยาว แต่สิ่งสำคัญ โมเดลเรื่องการแก้หนี้และบริหารเอ็นพีเอล และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังเป็นเรื่องใหม่ เรื่องความเข้าใจเป็นสิ่งที่ท้าทายเรา แต่เชื่อว่าไม่ยาก อีกทั้งรูปแบบเอเอ็มซีในต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และยังได้รับการลงทุน เช่น ในประเทศจีน และเกาหลี ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารหนี้ เป็นบริษัทมหาชน.
เม.ย. เคาะแผน 5 ปี มอง ROE ในระดับที่ดี
นางทองอุไร กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท และทีมผู้บริหาร เพื่อกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ บสก. ในระยะ 5 ปี ซึ่งสิ่งสำคัญ เราต้องมีวิชันที่นิ่งก่อน แต่จะเห็นได้ว่า 20 ปีเราเติบโตทุก ๆ ปี โดยเฉพาะจากตัวเลขกำไรที่สะท้อนออกมาระดับกว่า 4,000 ล้านบาททุก ๆ ปี เราก็พอใจ อย่างไรก็ตาม แนวทางของ บสก. ไม่ได้มุ่งหากำไร แต่บทบาทของ บสก. คือ จะดูสินทรัพย์ของประเทศให้นิ่ง ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น นั่นหมายความว่า บสก. จะเป็นตัวดึงทรัพย์ ดูแลทรัพย์ของประเทศไว้ และปล่อยออกสู่ระบบในราคาที่ยุติธรรม
“เราจะเห็นว่า ROE หรืออัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นของเราอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ข้างหน้าต้องอยู่ระดับ 10% ซึ่งตัว ROE นักลงทุนมอง สะท้อนปันผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
วางเป้าปี 61 สร้างรายได้บริหาร NPL-NPA กว่า 16,436 ล้านบาท
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า BAM มีผลการดำเนินงานโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยมีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ และจำหน่ายทรัพย์รวมทั้งสิ้น 15,269 ล้านบาท คิดเป็น 99.95% เมื่อเทียบกับเป้าหมาย 15,277 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,500 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินงานของ BAM ในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น มีการเพิ่มขนาดสินทรัพย์ โดยรับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการจำนวน 10,963 ล้านบาท
ในส่วนเป้าหมายแผนกลยุทธ์ปี 2561 คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการเป้าหมายการสร้างรายได้จากการบริหารจัดการ NPL และ NPA รวมทั้งสิ้น 16,436 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จาก NPL จำนวน 10,220 ล้านบาท และรายได้จาก NPA จำนวน 6,216 ล้านบาท รวมทั้งประมาณการกำไรสุทธิจำนวน 4,193 ล้านบาท ขณะที่วางเป้าหมายเพิ่มขนาดสินทรัพย์ โดยประมูลซื้อจากสถาบันการเงินคิดเป็นเงินลงทุนจากการซื้อสินทรัพย์จำนวน 8,315 ล้านบาท
สำหรับการบริหารจัดการ NPL นั้น มีการกำหนดแนวทางการประนอมหนี้ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า พร้อมปรับโครงสร้างหนี้รายย่อยให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนในระยะยาว และเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถมาประนอมหนี้กับ BAM ได้ทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา BAM ได้เปิดตัวโครงการสุขใจได้บ้านคืน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายย่อยสามารถชำระหนี้ และนำทรัพย์หลักประกันกลับคืนไป ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ จำนวน 391 ราย คิดเป็นเงิน 700.76 ล้านบาท
ด้านบริหารจัดการ NPA ปี 2560 ได้เปิดตัวโครงการสบายคอนโดจาก BAM และคอนโดมหาชน เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนที่มีงบประมาณจำกัด หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของสถาบันการเงินได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีผู้ซื้อทรัพย์ในโครงการสบายคอนโดจาก BAM และโครงการ คอนโดมหาชน จำนวนรวม 332 ราย เป็นจำนวนเงิน 117.66 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังได้จัดโครงการบ้านสบาย มีผู้สนใจซื้อ 73 ราย เป็นจำนวนเงิน 139.77 ล้านบาท และโครงการที่ดินเพื่อการออม มีลูกค้าสนใจซื้อ จำนวน 93 ราย เป็นจำนวนเงิน 109.69 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในช่วงปีที่ผ่านมา BAM ยังได้ออกบูทจำหน่ายทรัพย์ในงานต่าง ๆ มียอดซื้อทรัพย์ถึง 856.49 ล้านบาท
นายบรรยง กล่าวอีกว่า ในปี 2561 มีกลยุทธ์บริหารจัดการ NPA ให้มีสภาพพร้อมขาย โดยจะขออนุมัติงบจาก 80 ล้านบาท เพิ่มเป็น 200-300 ล้านบาท ในการปรับปรุงซ่อมแซม (Renovate) ทรัพย์ให้มีสภาพดี และสวยงาม มีดีไซต์ และสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อนำออกจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งมีโครงการที่จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์ได้ง่ายขึ้น
ด้านการจำหน่ายทรัพย์ ได้กำหนดกลยุทธ์ทางการจำหน่ายและส่งเสริมการขาย โดยการปรับปรุง Website ให้เป็น Market Place รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดโปรโมชัน/แคมเปญ/กลยุทธ์ ให้เหมาะกับกลุ่มทรัพย์แต่ละประเภท และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งบ้าน ที่ดิน คอนโด ตลอดจนทรัพย์ลงทุน