KBTG เปิดตัว “เกด” นวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้บริการ K PLUS เสมือนมีคู่หูอัจฉริยะอยู่เคียงข้างตลอดการใช้งาน ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและชีวิตส่วนตัวของลูกค้าทุกคน เตรียมใช้งานได้ภายในสิ้นปีนี้ รองรับธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารที่มีมากกว่า 80% พร้อมเพิ่มทีมงานพัฒนาต่อเนื่องเป็น 100 คนจากปัจจุบัน 40 คน
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า KBTG เป็นกลุ่มบริษัทจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค ล่าสุด ได้พัฒนา “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) ประสบการณ์ใหม่ของบริการทางการเงินแห่งอนาคต ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดจากการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไปสู่โลกของบริการทางการเงินอันชาญฉลาดเป็นครั้งแรกของสถาบันการเงินในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “From Digital to Intelligence” ที่เป็นการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ ให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนมีคู่หูอัจฉริยะคอยช่วยคิดและนำเสนอสิ่งดี ๆ ที่ตรงใจอยู่เสมอในทุกที่ทุกเวลา
เกด สามารถเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) ของลูกค้า ตลอดจนความต้องการทางการเงินทั้งในด้านธุรกิจ และชีวิตส่วนตัว และทำหน้าที่เป็นคู่หูผู้รู้ใจคอยเติมเต็มชีวิตทางการเงินของลูกค้า เช่น เตือนให้ลูกค้าไม่ลืมที่จะทำธุรกรรมที่จำเป็น ช่วยนำเสนอสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละท่าน ที่มีความ “ถูกใจ ทุกที่ ทุกเวลา” นอกจากนั้น ยังสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าในขั้นสุดได้อีกด้วย
ทั้งนี้ “เกด” เป็นนวัตกรรมทางการเงินแห่งอนาคตที่เกิดจากการผสมผสานประสบการณ์ทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เข้ากับวิสัยทัศน์และความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและการออกแบบของ KBTG อันประกอบด้วย Machine Intelligence กลไกอัจฉริยะที่ใช้ AI เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความฉลาดให้กับบริการต่าง ๆ ใน K PLUS ให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในทุกด้าน ทุกระดับ ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งความอัจฉริยะนี้จะเปลี่ยน K PLUS ให้เป็น K PLUS Intelligence Platform ที่รวบรวมการให้บริการอันรู้ใจในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในที่เดียวกัน และทำให้เกด เป็นคู่หูครบวงจรที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าได้อย่างแท้จริง และเตรียมพบกับ “เกด” ใน K PLUS ได้ภายในสิ้นปีนี้ #เกด #รู้ใจRightNow
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากเข้ามาของดิจิทัล ธุรกิจธนาคารก็เช่นกัน ทำให้ต้องมีการปรับตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การลดต้นทุน แต่ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกับลูกค้า ยึดพื้นที่ในใจลูกค้าให้ได้ รู้จัก รู้ใจเขา ไม่ใชแค่เก่งเทคโนโลยีเท่านั้น ต้องเป็น Total Solution มากขึ้น ไม่ใช่การทำธุรกรรมทางการเงินปกติทั่วไป ซึ่ง “เกด” ที่จะเข้าไปอยู่ใน K PLUS จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ และจะเป็นพื้นฐานในทุกบริการของ K PLUS พร้อมกันนั้น ก็จะมีการเพิ่มทีมงานในพัฒนาต่อเนื่องเป็น 100 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 40 คนใน 1 ปี
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีโครงการ Machine Lending ที่เป็นการนำ Machine Intelligence มาเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับผู้ค้ารายย่อยโดย KBTG ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเฟ้นหาลูกค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสินเชื่อส่วนบุคคลขนาดเล็ก และนำเสนอบริการดังกล่าวโดยตรงสู่ลูกค้าผ่านทาง K PLUS ที่หากลูกค้าสนใจรับบริการจะได้รับการอนุมัติและรับเงินเข้าบัญชีทันทีในเวลาไม่เกิน 1 นาที ทั้งนี้ ได้เริ่มทดลองให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และพบว่า การเสนอสินเชื่อในรูปแบบใหม่ด้วย Machine Intelligence นี้ ทำให้มีลูกค้าตอบรับบริการในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม
ทั้งนี้ นวัตกรรมทางการเงินที่ผ่านมาของ KBTG ได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้บ้างแล้ว เช่น K PLUS Beacon ที่นำแนวคิด Design Intelligence มาออกแบบการใช้งานธนาคารบนโทรศัพท์มือถือในรูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมอง เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถใช้บริการของธนาคารได้อย่างสะดวก และทัดเทียม ตัวอย่างต่อมา คือ โครงการพรวนฝัน ที่ใช้ Service Intelligence มาทดลองนำเสนอสินค้าเกษตรแบบตรงใจให้กับผู้ซื้อ อันเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร โดยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน K PLUS วิธีการดังกล่าวนี้จะสามารถเพิ่มรายได้ ให้กับผู้ค้ารายเล็ก ๆ ให้มีโอกาสในการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ โดยมีต้นทุนการตลาดที่ต่ำมาก
“บริการด้านการเงินในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาแล้วระดับหนึ่ง ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากกว่า 80% ของธุรกรรมทั้งหมด ขณะที่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร (unbanked) เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการรูปแบบเดิม ๆ เราจึงมีความมุ่งมั่นอย่างมากในการนำเทคโนโลยี และความรู้ที่มีอยู่ มาสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่เป็น unbanked ด้วย เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านชีวิตส่วนตัว และด้านธุรกิจ”