xs
xsm
sm
md
lg

“กสิกรไทย” เล็งเปิดตัว “KADE” ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับแอป K PLUS ในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” เครือธนาคารกสิกรไทย เผยกำลังพัฒนา “เกด” นำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับแอป K PLUS ที่มีผู้ใช้กว่า 8 ล้านคน คาดเปิดตัวภายในปีนี้ หวังเป็นดิจิตอลแบงกิ้งอย่างแท้จริงในอีก 3 ปีข้างหน้า นำร่องกับการสั่งซื้อสินค้า และสินเชื่อ หวังตอบโจทย์ชีวิตลูกค้ามากขึ้น

วันนี้ (13 มี.ค.) นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด หรือ KBTG ในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภายในปีนี้ (2561) บริษัทฯ เตรียมที่จะเปิดตัว "เกด" (KADE) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ผสมผสานทั้งดีไซน์ การตอบโจทย์ชีวิต และภาพรวมทั้งหมด อยู่ในแอปพลิเคชัน K PLUS เพื่อตอบโจทย์ชีวิตลูกค้าได้มากขึ้น โดยมีผู้ใช้และลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แล้วใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้น ระบบดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ชีวิตผู้ใช้งานและคนรอบตัว รวมทั้งช่วยเหลือในการทำธุรกิจได้ ที่สำคัญเทคโนโลยี AI จะเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกบริการใน K PLUS

“ปัจจุบันบริษัทฯ มีทีม Data Scientist ประมาณ 40 คน และจะเพิ่มเป็น 100 คน ภายใน 1 ปีข้างหน้า” นายสมคิด ระบุ

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีหลายโครงการ เช่น K PLUS BEACON แอปพลิเคชันธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากประเทศสิงคโปร์, ระบบ Machine Commerce โดยทดลองนำสินค้าไปเสนอขายกับผู้ซื้อผ่านผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ที่มีผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านคน โดยใช้ความสามารถของระบบ AI เพื่อให้รู้ว่าผู้ซื้อต้องการอะไร

“ที่ผ่านมามีการจำหน่ายดอกกุหลาบแบบพรีออเดอร์ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ รวมทั้งสินค้าเกษตร ข้าวสาร ข้าวโพด หนังสือ ขนมไหว้พระจันทร์ พบว่าคนที่ไม่เคยซื้อสินค้านั้นมาก่อน ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และสั่งซื้อได้ทันที” นายสมคิด ระบุ

นอกจากนี้ยังมี Machine Lending ระบบจะเสนอสินเชื่อแก่ลูกค้า แทนที่ลูกค้าจะขอสินเชื่อที่สาขา ที่ผ่านมาได้นำบริการสินเชื่อส่วนบุคคล (Pesonal Loan) เสนอให้ลูกค้าตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะยังไม่แม่นยำพอ แต่เมื่อเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ความแม่นยำเพิ่มขึ้น 300% ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมผ่านแอปฯ K PLUS

นายสมคิดอธิบายว่า การทำ Machine Commerce ไม่มีต้นทุนในการนำสินค้าไปเสนอแก่ผู้ซื้อ เราจะนำเสนอให้ หากสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด จะมีค่าใช้จ่ายก็ต่อเมื่อมีคนซื้อสินค้า ซึ่งความเสี่ยงค่าการตลาดน้อยมาก ช่วยลดต้นทุนการตลาด รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต เพราะสามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า หากต้องการขยายกิจการ เมื่อสินค้าขายดี แต่ขาดเงินทุน ระบบจะส่งบริการ Machine Lending ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีทันทีภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที ทำให้ธุรกิจไหลลื่นและขยายตัวได้

ทั้งนี้ ระบบ KADE ยังช่วยให้รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี มีบริการที่ตรงใจ และนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตกับซัปพลายเชน หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกจากนี้ ในโลกยุคใหม่ถ้ารู้จักข้อมูลลูกค้าว่าเป็นใคร นิสิต นักศึกษา ครอบครัว หรือผู้สูงอายุ ระบบ KADE ก็จะมีความสามารถที่เข้าใจ รู้จัก ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และตอบโจทย์ได้ตรงจุด ตรงประเด็น ตรงเวลา

และเมื่อรู้จักมากขึ้นก็จะคอยเตือนกันลืม เช่น การออมเงิน การวางแผนเรียนหนังสือ ซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือเรื่องเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล โดยอาจจะไปร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นโรงพยาบาล หรือเตือนว่าอย่าลืมรับปริญญา ฯลฯ และยังสามารถแนะนำการใช้ชีวิตและการลงทุนที่ตรงกับความเสี่ยงที่รับได้ ตรงกับอุปนิสัยใจคอของลูกค้าอีกด้วย

“สิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ มีความตั้งใจว่าจะทำให้ชีวิตของคนมีโอกาสมากขึ้น มีความสุขสบายมากขึ้น และต้องการที่จะนำระบบ KADE เข้าไปอยู่ใน K-PLUS ตอนนี้มีคนที่ทำเรื่องนี้อยู่เป็นร้อยคน อยู่ที่ KBTC อย่างหามรุ่งหามค่ำ เพราะเราอยากจะให้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมาเร็วที่สุด เราตั้งใจที่จะออกมาให้ได้ภายในปีนี้ และอีก 3 ปีข้างหน้า KADE จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ K PLUS กลายเป็นดิจิตอลแบงกิ้งอย่างแท้จริง” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดและคณะผู้บริหาร ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การนำระบบ KADE มาใช้กับแอปพลิเคชัน K PLUS นั้น ทั้งบริการ Machine Commerce (การซื้อขายสินค้า) และ Machine Lending (การให้สินเชื่อ) นั้น จะศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งจากธนาคารและพาร์ตเนอร์ แล้วนำมาประมวลผลโดยใช้เครื่องมือ ซึ่งจะรู้ว่าลูกค้ารายนั้นมีความไว้วางใจในระดับหนึ่ง โดยไม่ได้เสนอแก่ผู้ใช้งานทุกคน แต่จะเสนอคนที่มีศักยภาพและมีความต้องการจริงๆ

ในส่วนของ Machine Lending จะพิจารณาจากคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะประมวลผลและบอกได้ว่าในขณะนั้นลูกค้าคนใดมีแนวโน้มต้องการสินเชื่อก็จะเสนอไป ส่วนข้อมูลจากบริการ Machine Commerce ที่นำมาประมวลผล ไม่ได้มีแค่ K PLUS SHOP เพียงอย่างเดียว แต่มาจากพาร์ตเนอร์ที่มีอี-มาร์เกตเพลส หรืออี-คอมเมิร์ชอื่นๆ ซึ่งมีการทำงานที่เสริมซึ่งกันและกัน และจะสร้างอีโคซิสเต็มบนแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม ทุกบริการที่นำเสนอใน K PLUS จะพยายามเป็นอย่างมากไม่ให้การนำเสนอสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่ผู้ใช้มองว่าไม่เป็นประโยชน์ ในอนาคตหากสิ่งที่ระบบคาดเดา เช่น สินค้าหรือบริการ ไม่ตรงใจลูกค้าจริงๆ ผู้ใช้สามารถส่งฟีดแบ็กกลับมาเพื่อนำไปปรับปรุงและต่อไปจะไม่แสดงสิ่งนั้นไม่ต้องการแก่ลูกค้าอีก ทั้งนี้ คาดหวังว่าภายใน 5 ปีจะมีผู้ใช้งาน K PLUS เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน

นายเชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร ผู้บริหาร KBTG กล่าวว่า การนำระบบ KADE มาใช้กับแอป K PLUS ลูกค้าไม่ต้องปรับตัวใดๆ ขอให้ใช้บริการตามปกติ แต่เดิมธนาคารจะมีบริการอยู่ 30-40 บริการ แต่จะนำเสนออย่างไรให้ลูกค้า 8 ล้านคนได้สิ่งที่ถูกใจ และหาได้ง่าย การที่มี KADE เข้ามาเป็นเรื่องของการนำ AI เข้ามาช่วย ซึ่งจะช่วยปรับเพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องปรับนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น