ผู้เชี่ยวชาญตลาดอสังหาฯ คาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ปี 61 แนวโน้มโต คอนโดฯ ยังมาแรง คาดเปิดตัวกว่า 5.6 หมื่นยูนิต ทำเลแนวรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง-สายใหม่ยังฮอตต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกชะลอตัวตลาดออนไลน์ฉุดรายได้ผู้เช่าลด ระบุทุนจีนจ่อลงทุนไทยเพิ่มคาดปี 61 เม็ดเงินสะพัดกว่า 20,000 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญตลาดอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2561 ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 ค่อนข้างคึกคักทั้งในเรื่องของการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่มีมากกว่า 56,000 ยูนิตมากที่สุดในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา และเรื่องของการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ปีนี้มีการประกาศการร่วมทุนออกมาหลายราย รวมไปถึงการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่เปิดตัว และรูปแบบของโครงการที่มีมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสุดท้ายของปี แม้หลายโครงการจะสร้างความฮือฮา แต่ก็เริ่มมีความกังวลตามมาด้วยเช่นกัน เพราะบางโครงการมีขนาดใหญ่มากมีผลกระทบต่อหลาย ๆ ด้านทุกมิติแน่นอน
สำหรับปี 2561 ภาวะเศรษฐกิจหากพิจารณาจากหลายปัจจัยแล้วดีกว่าปีนี้แน่นอน เพราะปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวนั้น ดีขึ้นกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกเริ่มเห็นทิศทางที่ดีตั้งแต่ปี 2560 ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยว ก็ยังคงดีต่อเนื่องมาโดยตลอด ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักทั้ง 2 ปัจจัยนี้มีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง
ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ยังมีต่อเนื่อง อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีมากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานราชการและเอกชนหลายแห่งจึงประสานเสียงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2561 ดีกว่าปี 2560 แต่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นหรือช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้มากน้อยเท่าใดนั้น ยังต้องรอดูต่อไปเพราะปัจจัยภายในประเทศบางอย่าง เช่น ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในระยะยาว ยังเป็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้
ตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2561 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังปี 2560 ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีแผนขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่า คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในปี 2561 ใกล้เคียงกับปี 2560 คือ ประมาณ 56,000 ยูนิต ซึ่งจำนวนยูนิตอาจจะลดลง หรือมากกว่านี้ ต้องพิจารณาเรื่องของกำลังซื้อ และการโอนกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย เพราะหากโครงการที่สร้างเสร็จในปี 2561 แล้วมีคนไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในจำนวนที่ไม่ได้แตกต่างจากปี 2560 ทั้งด้วยเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารไม่ผ่าน และเรื่องของการไม่อยากจะโอนกรรมสิทธิ์ก็อาจจะมีผลต่อผู้ประกอบการต่อเนื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงขยายตัวต่อไปโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง และที่จะเริ่มการก่อสร้าง เพราะผู้ประกอบการยังคงต้องการพัฒนาโครงการที่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อส่วนใหญ่ที่มีกำลังซื้อไม่เกิน 3-4 ล้านบาทต่อยูนิต แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงให้ความสำคัญกับโครงการราคาสูงในพื้นที่เมืองชั้นใน เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้หลากหลาย อีกทั้งโครงการบ้านจัดสรรยังเป็นรูปแบบโครงการที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อเนื่อง แต่สัดส่วนของบ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานคร อาจจะลดลง เพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้น
ปี 2561 อาจจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการให้ความระมัดระวังต่อตลาดคอนโดมิเนียมมากขึ้น เพราะจะพึ่งพานักลงทุนหรือนักเก็งกำไรแบบที่ผ่านมาก็อาจจะยากลำบากมากขึ้น อัตราการขายเฉลี่ยของโครงการเปิดขายใหม่ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 65-70% มากกว่าปี 2560 ประมาณ 7-8% แต่ยังต้องพิจารณาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย
ส่วนทำเลเด่น ๆ สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมยังคงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง และจะเริ่มสร้างในอนาคต รวมไปถึงพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการรูปแบบอื่น ๆ จะยังคงมีการขยายตัวตามภาวะตลาดต่อไป ซึ่งตลาดที่น่าสนใจ คือ ตลาดอาคารสำนักงานที่ในช่วง 1-2 ปี นับจากปี 2561 เป็นต้นไป จะยังคงมีการขยายตัวในเรื่องของความต้องการพื้นที่สำนักงาน แต่หลังจากนั้น เมื่อมีอาคารสำนักงานใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่รวมมากกว่า 750,000 ตารางเมตรภายในปี 2564 ก็อาจจะต้องดูเรื่องของความต้องการพื้นที่ใหม่ว่าจะมีต่อเนื่องหรือไม่
โครงการค้าปลีกอาจประสบกับปัญหาที่ชัดเจนกว่าโครงการรูปแบบอื่น ๆ เพราะผู้เช่าประสบกับปัญหาเรื่องของรายได้ที่ลดลงทั้งจากการขยายตัวของตลาดออนไลน์ หรือการที่คนไทยใช้จ่ายเงินลดลงในช่วงที่ผ่านมา การขยายตัวของโครงการค้าปลีกจึงอาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัวกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ยกเว้นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ยังคงเดินหน้าต่อไปตามเดิม
การร่วมทุนหรือการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติจะยังคงมีต่อเนื่อง เพียงแต่ในปี 2561 จะมีสัดส่วนของนักลงทุนจากประเทศจีนมากขึ้น หรือนักลงทุนจีนจะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีมากถึง 20,000 ล้านบาทในปี 2561 จากที่ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนไม่มากนักในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ตลาดที่อยู่อาศัยยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่เช่นที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มหาช่องทางในการสร้างรายได้จากโครงการรูปแบบอื่นมากขึ้น.