ทีเอ็มบี เดินหน้าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ตรงใจ ง่ายและสะดวก ปฏิรูปองค์กรต่อเนื่องให้ฉับไว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคดิจิทัล ตั้งเป้าเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและแนะนำมากที่สุดในประเทศภายใน 5 ปี
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยถึงความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของทีเอ็มบี ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นว่า ทีเอ็มบี ได้ประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ตลอดระยะ 3 เฟสของแผนกลยุทธ์ ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยเฟสแรกซึ่งมุ่งเปลี่ยน และสร้างรากฐานใหม่ให้กับธนาคารด้วยการเสริมสร้างฐานะการเงินให้แข็งแกร่ง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างการบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับโครงสร้างสาขา การดำเนินกลยุทธ์ใช้เงินฝากเป็นตัวนำ โดยการส่งมอบบัญชีเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรมและบัญชีเงินฝากเพื่อการออมที่ดีที่สุดในตลาด โดยทีเอ็มบี เป็นธนาคารแรกที่ยกเลิกการกรอกเอกสารฝากถอนเงิน เป็นธนาคารแรกที่นำเสนอการธนาคารดิจิทัลภายใต้แบรนด์ ME by TMB และพัฒนา TMB TOUCH โมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ง่าย และสะดวกทุกที่ทุกเวลา
“การบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 เฟสนี้ ทำให้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในทุกด้าน และมีศักยภาพสูงในการตอบโจทย์ความต้องการที่ตรงใจลูกค้า (Need-based) ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานสะดวกและง่าย (Simple & Easy) เน้นที่การสร้างประสบการณ์การธนาคารที่ใช้งานได้จริง เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ทีเอ็มบีจึงมีกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจาก 147 ล้านบาทในปี 2551 มาอยู่ที่ 8,226 ล้านบาทในปี 2559 คิดเป็น 56 เท่า และทีเอ็มบีจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงตามแผนกลยุทธ์ที่ต่อเนื่องสำหรับการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ทีเอ็มบี ซึ่งจะรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป กล่าวว่า จากแผนงาน 5 ปี ทีเอ็มบีมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบ และแนะนำบอกต่อให้คนรอบข้างมาใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยภายในปี 2565 และจะขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 4 เท่า เพิ่มอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นประจำอีก 2 เท่า สร้างรายได้ให้เติบโตอีก 1 เท่า และลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลงให้เหลือ 40%
ทีเอ็มบีจะดำเนินการพัฒนาด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และลบล้างความเชื่อเดิม ๆ ว่า ดิจิทัลแบงกิ้ง หมายถึงแค่การออกแอปพลิเคชันให้ลูกค้าใช้ แต่สำหรับทีเอ็มบีนั้น ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่เสริมศักยภาพในการส่งมอบบริการคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงใจ (Need-based) ใช้งานง่ายและสะดวก (Simple & Easy) โดยทีเอ็มบีจะลงทุนเพิ่มเติมในระบบงาน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปฏิรูประบบเอกสารให้อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด เพื่อความสะดวกของลูกค้าในการรับบริการ พัฒนาช่องทางการบริการทุกช่องทางให้เชื่อมโยงกันแบบไม่สะดุด ทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้ง่าย ใช้งานได้จริง (Seamless Omni-channels) ดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า (Data Analytics) อย่างมืออาชีพ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบีจะนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการในแต่ละช่วงชีวิตของลูกค้า นำเสนอแผนการออมและการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า มีผลิตภัณฑ์ที่มอบสิทธิประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนตามบุคคล และโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ และในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ทีเอ็มบีจะส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์ที่ให้สิทธิประโยชน์เหมาะสม และพัฒนาบริการสินเชื่อที่อนุมัติให้ลูกค้าใช้ได้อย่างรวดเร็ว
นายปิติ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทีเอ็มบีได้ปฏิรูปองค์กรให้มีความฉับไว สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคดิจิทัลได้ โดยเราจะลดขั้นของตำแหน่งงานให้เหลือเพียง 5 ขั้นภายใน 5 ปีข้างหน้า มุ่งเป็นองค์กรที่กระชับไม่ซับซ้อน ทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรายังได้ริเริ่มการทำงานแบบ Agile เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานที่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่รวดเร็ว และดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารโดยรวม เพื่อทำให้การพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ทันต่อความต้องการของลูกค้า และสำหรับด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เรามุ่งสนับสนุนให้พนักงานทีเอ็มบีกล้าเปลี่ยน และใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ในการทำสิ่งที่แตกต่าง และมีความหมายต่อชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านสินเชื่อในปีหน้านั้น ในเบื้องต้น ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตได้ 1 เท่าของจีดีพี โดยหากจีดีพีเติบโต 4% สินเชื่อก็น่าจะเติบโตได้ 8% โดยมาจากสินเชื่อในทุก ๆ กลุ่ม จากก่อนหน้านี้ที่มาจากรายใหญ่เป็นหลัก
“นับเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของผม และทีมงาน ที่ได้รับไม้ต่อจากคุณบุญทักษ์ ในปรัชญา Make THE Difference ที่มีความเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีได้ ซึ่งเราก็จะพยายามสานต่อให้ดีที่สุด”