ธปท. เปิดรายงาน กนง. มองแนวโน้มลงทุนเอกชนฟื้นตัวแต่ยังโตต่ำ เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบกลางปี 61 การบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.8% ทั้งในปี 60 และปี 61 ซึ่งปรับสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน โดยแรงขับเคลื่อนมาจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเริ่มกระจายตัวมากขึ้น อีกทั้งแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้นทั้งในมิติของสินค้า และตลาดส่งออก และเริ่มเห็นการส่งออกดีขึ้นในผู้ประกอบการขนาดต่าง ๆ มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 60 คาดว่าจะขยายตัวที่ 8% ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชัดเจน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวดีตามวัฏจักรเทคโนโลยี ขณะที่หลายสินค้าได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย อีกทั้งราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ การส่งออกที่ขยายตัวทำให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น จึงคาดว่ามูลค่าการนำเข้าในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีตามภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 60 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 34.9 ล้านคนเป็น 35.6 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ และกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ ตามการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากจีนมายังจังหวัดท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวอาเซียนที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และมาตรการลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรานักท่องเที่ยว (tourist visa) นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
การบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตร และการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก และบริการ ที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งผลดีจากมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในระยะข้างหน้ายังไม่เข้มแข็งมากนัก เนื่องจากการจ้างงาน และรายได้ของแรงงาน ยังไม่ได้รับผลดีอย่างเต็มที่จากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้แรงงานน้อยลง รวมทั้งภาระหนี้ของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ส้าคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภค และการลงทุนภาครัฐ ที่ยังเบิกจ่ายอยู่ในเกณฑ์ดี การลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางโครงการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าที่คาดไว้บ้าง ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลมีแนวโน้มชะลอลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า และบางหน่วยงานมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการเบิกจ่าย นอกจากนี้ ยังมีผลจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจส่งผลให้การเบิกจ่ายของบางหน่วยงานที่กฎหมายขยายขอบเขตการบังคับใช้ไปถึงอาจล่าช้าบ้างในระยะแรก โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่เคยดำเนินการตามระบบใหม่นี้มาก่อน
การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังขยายตัวในระดับต่ำ โดยในระยะสั้น เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก แต่ภาคธุรกิจบางส่วนยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ และรอความชัดเจนต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวในระดับต้าจากปัจจัยด้านอุปทาน แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวในระดับต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากผลของปัจจัยด้านอุปทานที่มากขึ้นโดยเฉพาะราคาอาหารสด นอกจากนี้ ราคาอาหารสดที่ลดลงยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มอาหารทรงตัวในระดับต่ำ ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ค่อย ๆ ปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และแรงกดดันด้านอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต ค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวและการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 61
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น กระแสการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ จะส่งผลให้ให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อย่างช้า ๆ โดยรวมคณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 และ 61 มาอยู่ที่ 0.6% และ 1.2% ตามลำดับ
ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจปรับสมดุลมากขึ้นในระยะสั้น แต่โดยรวมยังโน้มไปด้านต่ำ ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสมดุล ความไม่แน่นอนของประมาณการเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวชัดเจนมากขึ้น โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานมาจากผลของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ มาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า สำหรับความเสี่ยงในประเทศมาจากกำลังซื้อที่ยังกระจายตัวไม่เข้มแข็ง มาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจชะลอลงในช่วงแรกจากผลของ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ
อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวดีกว่าคาดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสมดุล โดยอัตราเงินเฟ้ออาจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานจากเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น และการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม โอกาสที่อัตราเงินเฟ้ออาจขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานมาจากผลกระทบของมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ที่อาจทำให้ตลาดแรงงานตึงตัว และต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น
“เงินเฟ้ออาจจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในกลางปี 61 ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบได้เร็ว คือ การจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงงานต่างด้าว และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยด้านต่ำ คือ อุปสงค์ในประเทศเรื่องกำลังซื้อ ส่วนบัตรสวัสดิการคนจนคงไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเป็นการออกมาทดแทนมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรี ที่เคยทำอยู่แล้ว” นายจาตุรงค์ กล่าว
การด้าเนินนโยบายการเงินของไทยในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 27 ก.ย. 60 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นชัดเจนต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเริ่มส่งผ่านผลดีมายังภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับดีขึ้น แต่ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคยังไม่เข้มแข็ง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ซึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาอาหารสดที่ลดลง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเทศต่างประสบอยู่เช่นกัน แต่มีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลง เป็นผลจากปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. และรัฐบาลที่ลดลงเป็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้เป็นการชี้นำทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต
ขณะที่เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่ง โดยมีปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศ และปัจจัยเฉพาะภายในประเทศ ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคบ้างในบางช่วง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ จึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
แม้เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไปได้ อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง จากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กระทบการปรับตัวของ SMEs ต่อสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนสถานการณ์การต่ออายุการกู้ยืม (rollover) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) ที่แม้จะปรับดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ตราสารที่จะครบกำหนดในระยะต่อไป ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านความไม่สมดุลของอายุสินทรัพย์และหนี้สิน (maturity mismatch) ของธุรกิจโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน นอกจากจะกระทบต่อฐานเงินออมของประเทศแล้ว ยังส่งผลให้พฤติกรรม search for yield โน้มสูงขึ้นต่อเนื่องด้วย อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และกระจุกตัวในบางประเทศ การแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร (underpricing of risks) ในวงกว้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ติดตามพัฒนาการความเสี่ยงในจุดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดการเงิน และการประสานงานระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อสนับสนุนให้ผู้เล่นในตลาดเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น และดูแลไม่ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากช่องว่างของเกณฑ์กำกับดูแล (regulatory gap) ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการ macroprudential ที่เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ต่อไป นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง และส่งผ่านไปยังอุปสงค์ในประเทศ และเอื้อให้แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป
โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ และในประเทศ แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศที่สามารถกระทบแนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ยังมีอยู่ อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำนอกเหนือจากปัจจัยด้านอุปทาน และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี
คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าควรรักษาระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง และส่งผ่านไปยังอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะเอื้อให้แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพราคา และเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ