ธปท. เปิดรายงาน กนง.ระบุนโยบายการเงินควรผ่อนปรนจนกว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวชัดเจน และเข้มแข็งมากขึ้น คณะกรรมการฯ พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2560 โดยระบุว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 และ 29 มี.ค.60 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และดีกว่าที่คาดไว้เดิม
พร้อมมองว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนจนกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจน และเข้มแข็งมากขึ้น และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงินในระยะต่อไป ภายใต้ความเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก
"คณะกรรมการฯ พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ" รายงาน กนง.ระบุ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทขยายตัวได้ดีขึ้น และดีกว่าที่คาดไว้ ตามการส่งออกที่ขยายตัวชัดเจน และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ผลดีจากภาคการส่งออกต่อการจ้างงาน และรายได้ยังจำกัด ส่วนการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว และมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น แม้จะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากข้อมูลจริง และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง
ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย ปริมาณการระดมทุนขยายตัวได้ดีในธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้น แต่มีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนไม่มาก เพราะธุรกิจไทยระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นถึงปานกลางเป็นหลัก เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเทียบกับสกุลคู่ค้าสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ดีกว่า ในระยะข้างหน้าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนสูง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสมของภาคเอกชน จึงมีความสำคัญมากขึ้น
เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงของ SMEs และภาคครัวเรือน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks) ตลอดจนความเสี่ยงจากธนาคารเงา (shadow banking) หรือความเสี่ยงจุดอื่นที่ยังไม่ปรากฏขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น จนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์ และหนี้สิน ทั้งนี้ การประสานงานระหว่างองค์กรกำกับดูแลต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินไทยในระยะต่อไป
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น รายงาน กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% และ 3.6% ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 2.2% นำโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามความนิยมใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มากขึ้น และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดี รวมทั้งมีธุรกิจบางรายย้ายฐานการผลิตมาไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ แผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
การส่งออกบริการฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายคลี่คลาย ทั้งนี้ การขยายระยะเวลามาตรการลด/ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมทั้งมาตรการจำกัดการขายแพกเกจท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ของทางการจีนที่คาดว่า จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนมาเที่ยวไทยมากขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการฯ ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2560 มาอยู่ที่ 34.5 ล้านคน
การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ ตามโครงการประชารัฐสร้างไทยที่ชัดเจนขึ้น กรอบวงเงินงบประมาณปี 2561 ที่สูงกว่าที่คาด และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น แม้จะมีการเลื่อนแผนลงทุนรถไฟทางคู่บางส่วนออกไปเป็นปีหน้าตามการทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง
การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงสนับสนุนหลักมาจาก (1) รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นทั้งด้านราคา และผลผลิต โดยราคายางพาราสูงขึ้น และผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น (2) รายได้ครัวเรือนภาคบริการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และ (3) กำลังซื้อบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังรายจ่ายผ่อนชำระตามมาตรการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง อย่างไรก็ตาม รายได้ และการจ้างงานในภาพรวมอาจยังไม่ได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้ามากนัก เพราะสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต
การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน แม้ในช่วงแรกการลงทุนอาจได้รับผลดีไม่มากนักจากการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ในระยะต่อไป การลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้นได้หลังจากที่การบริโภค และการส่งออกขยายตัวชัดเจนขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทยอยเข้าใกล้ค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน ตามปัจจัยด้านต้นทุนจากราคาน้ำมัน ซึ่งมีฐานต่ำในปีก่อน และปัจจัยด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจผันผวนได้ในระยะสั้นจากผลของฐานราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นในปีที่แล้วจากปัญหาภัยแล้ง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันของโลก โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 1.2% และ 1.9% ตามลำดับ
“ประมาณการเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง และความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำมากกว่าเดิม จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบการส่งออก และความเสี่ยงในภาคการเงินของจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำ แม้โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้าง จากการลงทุนภาครัฐที่อาจกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจทำได้มากกว่าคาด” รายงาน กนง.ระบุ